ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร กับการลดหย่อนภาษี - TaxTeller

วันศุกร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร กับการลดหย่อนภาษี


ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร กับการลดหย่อนภาษี

           ตอนนี้ประเทศเรากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ  นั่นหมายถึงวัยแรงงาน วัยทำงานกำลังลดน้อยลง  ดังนั้นรัฐบาลจึงมีมาตรการส่งเสริมให้ประชาชนมีบุตรเพิ่มขึ้น  จะเห็นได้จากมาตรการยกเว้นเงินได้ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 60,000.00 บาท สำหรับการตั้งครรภ์ในแต่ละครั้ง  โดยเป็นการยกเว้นเงินได้แต่ให้นำไปหักจากเงินได้หลังหักค่าใช้จ่าย ว่ากันง่ายๆภาษาเราเพื่อให้เข้าใจก็นำไปหักเสมือนเป็นค่าลดหย่อนนั่นเอง ซึ่งต่อไปเราจะพูดว่าเป็นค่าลดหย่อนละกัน

หลักฐานเพื่อใช้ในการลดหย่อน มีรายละเอียดดังนี้

  1. ต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการรักษาพยาบาลจากการตั้งครรภ์และคลอดบุตร  ไม่ว่าจะเป็น        ค่าตรวจ  ค่ารับฝากครรภ์  ค่าบำบัดทางการแพทย์  ค่ายาและค่าเวชภัณฑ์  ค่าทำคลอด  ค่ากินอยู่ในสถานพยาบาล 
  2. จะเป็นสถานพยาบาลของทางราชการ หรือของเอกชนก็ได้
  3. ต้องมีใบรับรองแพทย์จากแพทย์ที่ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมว่าได้ตรวจและแสดงความเห็นว่ามีภาวะตั้งครรภ์  (จะเห็นได้ว่าไม่จำเป็นต้องเป็นสูตินรีแพทย์ เป็นแพทย์ทั่วไป หรือแพทย์อื่นๆก็ได้  ขอให้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมจากแพทยสภาก็พอ)
  4. ต้องมีใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานจากสถานพยาบาลที่แสดงว่าได้จ่ายค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร
  5. ไม่คำนึงถึงว่าในการตั้งครรภ์นั้นทารกที่คลอดออกมาจะมีชีวิตรอดหรือไม่ก็ตาม
  6. มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป

หลักเกณฑ์การหักค่าลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร 

        1. สามารถหักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 60,000.00 บาท
        2. หากสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว  ให้นำไปหักเป็นค่าลดหย่อนของผู้ที่มีเงินได้
        3. สามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้  ถ้าต่างฝ่ายต่างยื่นแบบของตนเองให้ฝ่ายภริยา เป็นผู้หักลดหย่อนถ้ายื่นแบบรวมกันให้ผู้ยื่นแบบเป็นผู้หักลดหย่อน
                   
        4. หากการตั้งครรภ์และการคลอดบุตรเกิดขึ้นคนละปีภาษี ให้หักลดหย่อนตามจำนวนเงินที่มีการจ่ายไปจริงในแต่ละปี  แต่รวมกันแล้วก็ต้องไม่เกิน 60,000.00 บาท  เช่น
            ปี 2561 จ่ายค่าฝากครรภ์ไปจำนวน   40,000.00  บาท
            ปี 2562  จ่าเป็นค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรอีกจำนวน 30,000.00 บาท
            ดังนั้นในปี 2561 สามารถหักลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรได้จำนวน 40,000.00 บาท และในปี 2562 ก็สามารถนำไปใช้ได้อีกจำนวน 20,000.00 บาท
        5. กรณีมีการตั้งครรภ์หลายครั้งในปีเดียวกัน  ให้หักค่าลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 60,000.00 บาท ในการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง เช่น
          ช่วงเดือน ก.พ. - มิ.ย. 2561 มีการตั้งครรภ์และจ่ายค่าฝากครรภ์ไปจำนวน  50,000.00 บาท
          ปลายเดือน มิ.ย. 2561  โชคร้ายเกิดแท้งบุตร
          ช่วงเดือน ก.ย. - ธ.ค. 2561 ตั้งครรภ์ครั้งที่ 2 และจ่ายเงินค่าฝากครรภ์ไปจำนวน 30,000.00 บาท
          ช่วงเดือน ม.ค. - พ.ค. 2562 จ่ายค่าฝากครรภ์ และค่าคลอดบุตร จำนวน  50,000.00 บาท
          ช่วงเดือน พ.ย. - ธ.ค. 2562 ตั้งครรภ์ครั้งที่ 3 จ่ายค่าฝากครรภ์ จำนวน 20,000.00 บาท

         การใช้สิทธิค่าลดหย่อน       
          ปีภาษี 2561 สามารถใช้สิทธิ จากการตั้งครรภ์ครั้งที่ 1 จำนวน                       50,000.00 บาท
                              สิทธิจากการตั้งครรภ์และฝากครรภ์ครั้งที่ 2 จำนวน                   30,000.00 บาท
                              รวมค่าลดหย่อนค่าฝากครรภ์ในปี 2561  จำนวน                        80,000.00 บาท

          ปีภาษี 2562 ค่าฝากครรภ์และคลอดบุตรจากการตั้งครรภ์ครั้งที่ 2 จำนวน      30,000.00 บาท
                              ค่าฝากครรภ์จากการตั้งครรภ์ครั้งที่ 3 จำนวน                             20,000.00 บาท
                              รวมค่าลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรปี 2562 จำนวน  50,000.00 บาท
     6. การใช้สิทธิลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร เมื่อนำไปรวมกับสิทธิการเบิกเงินค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรซึ่งเป็นสิทธิสวัสดิการจากภาครัฐหรือภาคเอกชนของผู้มีเงินได้และคู่สมรสแล้วต้องไม่เกิน 60,000.00 บาทสำหรับการตั้งครรภ์ในแต่ละครั้ง
        เห็นอย่างนี้เราก็จะสามารถวางแผนชีวิตกันได้ถูกว่าหากต้องการใช้สิทธิลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรแล้วต้องเตรียมตัวหรือเตรียมหลักฐานกันอย่างไรบ้าง  ได้ทั้งความสุขใจจากตัวเล็กน่ารักๆ และสบายกระเป๋าจากการจ่ายภาษีลดลง

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ้างอิง :  ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 331) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น