แจ้งใช้สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพ (สำหรับการจ่ายเบี้ยประกันก่อนวันที่ 1 มกราคม 2563) - TaxTeller

วันจันทร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2561

แจ้งใช้สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพ (สำหรับการจ่ายเบี้ยประกันก่อนวันที่ 1 มกราคม 2563)

 
 
ตอนนี้ได้มีการส่งข้อความต่อๆ กัน ใจความว่า
           "แจ้งเตือนอีกครั้ง ผู้มีเงินได้บุคคลธรรมดา ถ้าต้องการลดหย่อนภาษี จากเบี้ยประกันชีวิต เบี้ยประกันสุขภาพ ปีนี้สรรพากรเปลี่ยนกฎใหม่  ให้ผู้มีเงินได้ที่้ต้องการลดหย่อนภาษีจะต้องแจ้งความประสงค์  เพื่อใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ถ้าไม่ส่งแบบฟอร์มไปจะไม่สามารถลดหย่อนภาษีได้  ทุกคนที่ต้องการลดหย่อนภาษี ต้องกรอกแบบform แล้วส่งก่อนวันที่ 1 ธ.ค นี้นะคับ"
           หลายคนอาจสงสัยว่า เป็นเรื่องจริงมั้ย แล้วถ้าเราไม่ส่งเราจะไม่สามารถลดหย่อนภาษีได้จริงๆหรือ  เรามาไขข้อข้องใจเรื่องนี้กัน
           ประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ที่สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ มีดังนี้
           1. ประกันชีวิตของผู้มีเงินได้  หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง  แต่ไม่เกิน 100,000.00 บาท
           2. ประกันชีวิตแบบบำนาญของผู้มีเงินได้  หักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมิน  และไม่เกิน 200,000.00 บาท และเมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  หรือเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือเงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF) ต้องไม่เกิน 500,000.00 บาท ในปีภาษีเดียวกัน
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต ดูรายละเอียดตาม Link การประกันชีวิตกับการลดหย่อนภาษี
           3. ประกันสุขภาพของผู้มีเงินได้  หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000.00 บาท และเมื่อรวมกับประกันชีวิตตามข้อ 1 แล้วต้องไม่เกิน 100,000.00 บาทด้วย
           เราจะคุ้นเคยกับเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป  และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญกันมาบ้างแล้ว  แต่เรื่องเบี้ยประกันสุขภาพถือเป็นเรื่องใหม่ ที่สรรพากรให้สามารถนำมายกเว้นภาษีเงินได้ตั้งแต่ปีภาษี 2560  แล้วหลักเกณฑ์ของเบี้ยประกันสุขภาพมีอะไรบ้าง หากเราต้องการนำมาใช้สิทธิ
           หลักเกณฑ์การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเบี้ยประกันสุขภาพของผู้มีเงินได้
           1. ต้องเป็นการจ่ายเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันสุขภาพของผู้มีเงินได้  ให้แก่บริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยที่ประกอบกิจการในประเทศไทย       
          2. การประกันสุขภาพ หมายถึง
    • การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันอาจเกิดจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ  การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะ เนื่องจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ
    • การประกันภัยอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก
    • การประกันโรคร้ายแรง (Critical Illnesses)
    • การประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long Term Care)
          3. หักได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000.00 บาท  และเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตต้องไม่เกิน 100,000.00 บาท
          4.  หากต้องการใช้สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพ  ผู้มีเงินได้ต้องแจ้งความประสงค์ที่จะใช้สิทธิต่อบริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยที่ได้เอาประกันไว้ตั้งแต่ปีภาษี 2561 เป็นต้นไป       
           นั่นคือหากเราต้องการใช้สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพในปีภาษี 2561 ซึ่งจะต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในช่วง มกราคม - มีนาคม 2562 และปีถัดๆไปนั้น เราต้องแจ้งความประสงค์เพื่อขอใช้สิทธิต่อบริษัทที่เราทำเบี้ยประกันสุขภาพไว้ โดยกรมสรรพากรจะใช้ข้อมูลในรูปแบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ที่บริษัทประกันเป็นผู้ส่งข้อมูลให้ ในการให้สิทธิลดหย่อนภาษีเบี้ยประกันสุขภาพ
           แต่หากเราใช้สิทธิลดหย่อนประกันชีวิตในแต่ละปีไว้แล้วจำนวน 100,000.00 บาท การจะนำเบี้ยประกันสุขภาพมาใช้เพิ่มอีก 15,000.00 บาท ก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรเลย เพราะตามที่กฎหมายกำหนดเมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตแล้วใช้หักค่าลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000.00 บาทอยู่ดี กรณีนี้จึงเป็นประโยชน์กับใครก็ตามที่ยังมีเบี้ยประกันชีวิตไม่ถึง 100,000.00 บาทนั่นเอง

Link ในการแจ้งความประสงค์ที่จะใช้สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพ
     1. Link : AIA
     2. Link : เมืองไทย
     3. Link : AXA
     4. Link : กรุงเทพประกันชีวิต
     5. Link : SCB
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ้างอิง  :  ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 315) เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันสุขภาพของผู้มีเงินได้



                       

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น