จด VAT ผ่าน NET อย่างไรให้ผ่านฉลุย (EP.1) - TaxTeller

วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

จด VAT ผ่าน NET อย่างไรให้ผ่านฉลุย (EP.1)


จด VAT ผ่าน NET อย่างไรให้ผ่านฉลุย (EP.1)

        ในการประกอบธุรกิจ เราจะมีความคาดหวังให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ มีลูกค้าเป็นจำนวนมาก  เมื่อติดต่อประสานงานหรือได้รับงานแล้ว บริษัท ห้างร้าน หรือแม้แต่หน่วยงานราชการ ก็จะมีเงื่อนไขว่าเราต้องออกใบกำกับภาษีให้เค้าด้วย เอาละสิแล้วธุรกิจใหม่ๆ จะต้องมีการเตรียมตัวอย่างไรกันบ้าง เพื่อให้สามารถไปจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และได้รับอนุมัติทันก่อนการส่งมอบงานหรือติดต่องาน โดยไม่เสียเวลา  หรือมีปัญหาว่าจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วไม่ได้รับอนุมัติ 
       ในขั้นตอนแรกเราต้องรู้ก่อนว่าธุรกิจที่เราทำ เป็นกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แล้วเราต้องไปจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามประเภทการจดทะเบียนแบบไหน ในที่นี้เราจะพูดถึงการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านทางอินเทอร์เน็ต เนื่องจากเป็นการจดทะเบียนที่สะดวก รวดเร็ว และไม่ยุ่งยาก 

ประเภทของการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม   

        ประเภทของการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแบ่งได้เป็น 3 ประเภท

ประเภทที่ 1 เป็นประเภทกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและมีรายรับเกิน 1,800,000 บาทต่อปี  

        ประเภทการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทนี้จะเป็นกรณีที่ผู้ประกอบการได้ประกอบกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไปแล้วจนมีรายรับเกิน 1,800,000 บาทต่อปี จึงอยู่ในบังคับต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีรายรับเกิน 1,800,000 บาท ตามกฎหมาย
ประเภทกิจการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษี ได้แก่
        1. ประเภทกิจการขายสินค้าในราชอาณาจักร
         " สินค้า " ในที่นี้หมายถึง ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่าง ที่อาจมีราคาและถือเอาได้ไม่ว่าจะมีไว้เพื่อขาย เพื่อใช้ หรือเพื่อการใด ๆ และให้หมายความรวมถึงสิ่งของทุกชนิดที่นำเข้า ตัวอย่างเช่น สิทธิการเช่า ใยสมัครงาน แบบประกวดราคา เครื่องใช้สำนักงานที่มีไว้ใช้ เครื่องจักรเก่าที่ใช้แล้ว ซากอะไหล่เก่า เศษวัสดุ ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน สิทธิตามประทานบัตร ลิขสิทธิ แต่ไม่รวมถึง บัตรเงินฝาก บัตรภาษี เงินตรา บัตรกำนัล อสังหาริมทรัพย์
         " การขาย" ในที่นี้หมายถึง การจำหน่าย จ่าย โอนสินค้า ไม่ว่าจะมีประโยชน์หรือค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม รวมถึง สัญญาให้เช่าซื้อสินค้า สัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อสินค้าเมื่อได้ส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อสินค้าแล้ว การส่งมอบสินค้าให้ตัวแทนเพื่อขาย การส่งออก การนำสินค้าไปใช้ยกเว้นเป็นการนำสินค้าไปใช้ในกิจการของตนเอง(ถ้านำไปใช้ในกิจการที่จดภาษีมูลค่าเพิ่มของตนเองจะไม่ถือเป็นการขาย แต่ถ้านำไปใช้ในกิจการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของตนเองจะถือเป็นการขายต้องออกใบกำกับภาษีด้วย)
        2. ประเภทกิจการให้บริการในราชอาณาจักร
         " บริการ " ในที่นี้หมายถึง การกระทำใด ๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า และให้หมายความรวมถึงการใช้บริการของตนเอง ไม่ว่าประการใดๆ แต่ไม่รวมถึง การใช้บริการหรือการนำสินค้าไปใช้ เพื่อประกอบกิจการของตนเองโดยตรง ตามที่กฎหมายกำหนด  การนำเงินไปหาประโยชน์โดยการฝากธนาคารหรือซื้อพันธบัตรหรือหลักทรัพย์ 

แบบที่ใช้ในการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม : แบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.01
กำหนดระยะเวลาในการยื่นคำขอ : ภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีรายรับเกิน 1,800,000 บาท

ประเภทที่ 2 เป็นกรณีที่ยังไม่ได้เริ่มประกอบกิจการแต่มีแผนงานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าได้เตรียมการเพื่อประกอบกิจการขายสินค้าและบริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

        ประเภทการขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทนี้จะแตกต่างจากประเภทที่ 1 ตรงที่ว่า  เป็นการขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก่อนที่จะเริ่มประกอบกิจการ ยังไม่ได้มีการขายสินค้าหรือการให้บริการเลย ต้องการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อนำใบกำกับภาษีซื้อจากการซื้อสินค้า ค่าก่อสร้าง การติดตั้งเครื่องจักร ค่าอุปกรณ์ต่างๆ มาใช้ในการยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม การจะขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีนี้ได้จะต้องเตรียมเอกสารหลักฐานดังต่อไปนี้
        1. ต้องมีแผนงานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าได้เตรียมการเพื่อประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และ
        2. มีการดำเนินการเพื่อเตรียมประกอบกิจการ อันเป็นเหตุให้ต้องมีการซื้อสินค้าหรือบริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น การก่อสร้างโรงงาน การก่อสร้างอาคารสำนักงาน หรือการติดตั้งเครื่องจักร

แบบที่ใช้ในการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม : แบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.01
กำหนดระยะเวลาในการยื่นคำขอ 
1. มีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ภายในกำหนด 6 เดือน ก่อนวันเริ่มประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ หรือ
2. หากมีสัญญา หรือหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจะดำเนินการก่อสร้างโรงงานหรืออาคารสำนักงาน หรือติดตั้งเครื่องจักร หรือมีการกระทำอย่างอื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน ให้มีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ภายในเวลาที่เหมาะสมและจำเป็นต่อการก่อสร้างโรงงานหรืออาคารสำนักงานหรือติดตั้งเครื่องจักร

ประเภทที่ 3 เป็นกรณีที่เป็นการประกอบกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ต้องการที่จะเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

         ประเภทการขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทนี้เป็นประเภทที่ประกอบกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม  แต่ต้องการที่จะเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้แก่
        1. กิจการขนาดย่อม ซึ่งประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่มีรายรับไม่เกินปีละ 1,800,000 บาท
        2. กิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มที่ไม่ใช่เป็นการส่งออกหรือให้บริการ ดังนี้
            2.1 การขายพืชผลทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็น ลำต้น กิ่ง ใบ เปลือก หน่อ ราก เหง้า ดอก หัว ฝัก เมล็ด หรือส่วนอื่น ๆ ของพืช และวัตถุพลอยได้จากพืช ทั้งนี้ ที่อยู่ในสภาพสดหรือรักษาสภาพไว้ เพื่อมิให้เสียเป็นการชั่วคราวในระหว่างขนส่ง ด้วยการแช่เย็น แช่เย็นจนแข็งหรือด้วยการจัดทำ หรือปรุงแต่งโดยวิธีการอื่น หรือรักษาสภาพไว้เพื่อมิให้เสียเพื่อการขายปลีก หรือขายส่งด้วยวิธีการแช่เย็น แช่เย็นจนแข็ง ทำให้แห้ง บด ทำให้เป็นชิ้น หรือด้วยวิธีอื่น ข้าวสาร หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการสีข้าว แต่ไม่รวมถึงไม้ซุง ฟืน หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเลื่อยไม้ หรือผลิตภัณฑ์อาหารที่บรรจุกระป๋อง ภาชนะ หรือหีบห่อที่ทำเป็นอุตสาหกรรม ตามลักษณะ และเงื่อนไขที่กฏหมายกำหนด
            2.2 การขายสัตว์ ไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต และในกรณีสัตว์ไม่มีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเนื้อ ส่วนต่างๆ ของสัตว์ ไข่ น้ำนม และวัตถุพลอยได้จากสัตว์ ทั้งนี้ ที่อยู่ในสภาพสด หรือรักษาสภาพไว้เพื่อมิให้เสียเป็นการชั่วคราวในระหว่างขนส่งด้วยการแช่เย็น แช่เย็นจนแข็ง หรือด้วยการจัดทำหรือปรุงแต่งโดยวิธีการอื่น หรือรักษาสภาพไว้เพื่อมิให้เสียเพื่อการขายปลีก หรือขายส่งด้วยวิธีการแช่เย็น แช่เย็นจนแข็ง ทำให้แห้ง บด ทำให้เป็นชิ้นหรือด้วยวิธีอื่น แต่ไม่รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารที่บรรจุกระป๋อง ภาชนะ หรือหีบห่อที่ทำเป็นอุตสาหกรรม ตามลักษณะ และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
            2.3 การขายปุ๋ย           
            2.4 การขายปลาป่น อาหารสัตว์           
            2.5 การขายยาหรือเคมีภัณฑ์ที่ใช้สำหรับพืชหรือสัตว์ เพื่อบำรุงรักษา ป้องกัน ทำลายหรือกำจัดศัตรูหรือโรคของพืชและสัตว์           
            2.6 การขายหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียน 
       3. กิจการอื่นตามที่กฎหมายกำหนด   
           3.1 การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรโดยอากาศยาน
           3.2 การส่งออกของผู้ประกอบการในเขตอุตสาหกรรมส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย”
           3.3 การให้บริการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทางท่อในราชอาณาจักร

           3.4 การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักร สำหรับการให้บริการขนส่งทางทะเลโดยเรือเดินทะเล ทั้งนี้ ให้รวมถึงการให้บริการขนส่งระหว่างทะเลกับแม่น้ำในราชอาณาจักรโดยเรือเดินทะเลด้วย

 แบบที่ใช้ในการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม  
        เนื่องจากประเภทที่ 3 นี้เป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม การจะขอเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81/3 แห่งประมวลรัษฎากร ก่อนด้วยแบบคำขอแจ้งใช้สิทธิเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.01.1 แล้วจึงจะมีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.01 ได้
กำหนดระยะเวลาในการยื่นคำขอ : ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01) ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้ยื่นคำขอแจ้งใช้สิทธิเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01.1)
        โดยส่วนมากแล้วในการขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านอินเทอร์เน็ตหากเป็นการขอจดตามประเภทที่ 1 และ 2 จะไม่ประสบปัญหามากนัก แต่หากประกอบกิจการที่ได้รับยกเว้นตามประเภทที่ 3 แล้วไปเลือกประเภทการจดทะะเบียนตามประเภทที่ 1 จะมีผลทำให้ท่านไม่ได้เข้าไปแจ้ง ภ.พ.01.1 เพื่อแจ้งใช้สิทธิขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก่อน ดังนั้นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.01 จึงใช้ไม่ได้ ก็ต้องมาเริ่มนับหนึ่งกันใหม่
        ดังนั้นเราควรรู้ว่าการประกอบกิจการของเราอยู่ในประเภทการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแบบไหน เพื่อจะได้ไม่เสียเวลา และอาจจะทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจไปด้วย ต่อไปจะเป็นการเตรียมเอกสารไว้ให้พร้อมเมื่อเจ้าหน้าที่สรรพากรจะมาตรวจ ณ สถานประกอบการ ติดตามตอนต่อไปใน จด VAT ผ่าน NET อย่างไรให้ผ่านฉลุย (ตอนจบ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น