การประกันชีวิตกับการลดหย่อนภาษี - TaxTeller

วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2561

การประกันชีวิตกับการลดหย่อนภาษี

การประกันชีวิตกับการลดหย่อนภาษี

         อนาคตของคนเราเป็นสิ่งไม่แน่ไม่นอน  ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ว่าจะมีอายุยืนยาวไปจนถึงอายุเท่าไหร่  จะเกิดอุบัติเหตุ หรือเจ็บป่วยเมื่อไหร่หรือหนักหนาแค่ไหน  บางคนอาจโชคดีมีอายุยืนยาว สุขภาพแข็งแรง  ซึ่งไม่มีใครหยั่งรู้ได้  เพื่อเป็นการปกป้องชีวิตและครอบครัวหรือเพื่อออมเงินไว้ใช้ในอนาคต  การทำประกันชีวิตจึงเริ่มเป็นที่ต้องการสำหรับคนวัยทำงาน  อีกทั้งยังสามารถนำมาหักเป็นค่าลดหย่อนเมื่อต้องยื่นเสียภาษีปลายปีได้อีกด้วย
        แล้วประกันชีวิตที่เราทำเพื่อคุ้มครองชีวิต ครอบครัว และการออมในอนาคต  แล้วยังก่อให้เกิดประโยชน์ในเรื่องของการลดหย่อนภาษี คือการประกันชีวิตแบบไหนบ้างล่ะ  เดี๋ยวเรามาดูกัน  แต่ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักคำศัพท์ประกันชีวิตที่เกี่ยวกับการลดหย่อนภาษีกันก่อนดีกว่า
        ประกันชีวิต  คือ  การประกันภัยที่การจ่ายเงินอาศัยการทรงชีพ หรือการมรณะของบุคคลเป็นเหตุในการจ่าย
        กรมธรรม์ประกันชีวิต คือ ข้อตกลงของผู้รับประกันภัย (บริษัทประกัน) กับผู้เอาประกันภัย ในรูปแบบของสัญญาที่เรียกว่า "สัญญาประกันภัย" หรือ "สัญญาประกันชีวิต"  ประกอบด้วย
                       -  สัญญาหลัก  จะเกี่ยวกับการคุ้มครองชีวิต  และเงื่อนไขเงินคืน (การชำระเงินในส่วนของสัญญาหลัก จะเป็นเบี้ยประกันที่นำไปลดหย่อนภาษีเบี้ยประกันชีวิต)
                       -  สัญญาย่อย  หรือสัญญาเพิ่มเติม  จะเป็นการจ่ายชดเชยนอกเหนือจากสัญญาหลัก  เช่น อุบัติเหตุ ค่ารักษาพยาบาล  ประกันภัยสุขภาพ (การชำระเงินในส่วนของสัญญาย่อย หรือสัญญาเพิ่มเติมนี้ จะเป็นเบี้ยประกันที่นำไปลดหย่อนภาษีเบี้ยประกันสุขภาพ แต่รายละเอียดต้องเป็นไปตามกฎหมายกำหนด)
       ผู้เอาประกันภัย  คือ คู่สัญญาซึ่งตกลงจะส่งเบี้ยประกันภัยจำนวนหนึ่งให้ผู้รับประกันภัย (บริษัทประกัน) เมื่อเกิดมีภัยขึ้น  ผู้รับประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทน/บุคคลที่ได้รับการคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันภัย ในการประกันชีวิต
       ระยะเวลาประกันภัย  คือ วันที่กรมธรรม์ประกันภัยมีผลเริ่มต้นให้ความคุ้มครองจนถึงวันสุดท้ายที่ให้ความคุ้มครอง  หรือก็คือระยะเวลาการให้ความคุ้มครองในกรมธรรม์
       ผู้ชำระเบี้ยประกัน  คือ ผู้จ่ายเงินชำระค่าประกันชีวิตตามข้อตกลงในกรมธรรม์  ซึ่งผู้ชำระเบี้ยประกันจะเป็นบุคคลเดียวกับผู้เอาประกันหรือไม่ก็ได้

การประกันชีวิตที่สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตมาหักลดหย่อนภาษีได้  แบ่งได้ 2 ประเภท คือ

      1.  เบี้ยประกันชีวิตสำหรับการประกันชีวิตที่เงื่อนไขเป็นไปตามที่กรมสรรพากรกำหนด
      2.  เบี้ยประกันชีวิตสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ

1.  เบี้ยประกันชีวิตสำหรับการประกันชีวิตที่เงื่อนไขเป็นไปตามที่กรมสรรพากรกำหนด

ค่าลดหย่อน

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเบี้ยประกันชีวิต

ส่วนแรก  หักลดหย่อนได้

ตามจำนวนที่จ่ายจริง  แต่ไม่เกิน 10,000.- บาท

ส่วนที่ 2  ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าประกันชีวิตโดยให้นำไปหักออกจากเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่าย แล้ว(เสมือนเป็นค่าลดหย่อน ซึ่งต่อไปจะเรียกว่าค่าลดหย่อน)

สำหรับส่วนที่เกิน 10,000.- บาท แต่ไม่เกิน 90,000.- บาท

* สรุปง่ายๆ ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตในส่วนนี้ให้หักค่าลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000.- บาท

 

1.ผู้รับประกัน (บริษัทประกัน)  ต้องประกอบกิจการในประเทศไทยเท่านั้น (ไม่ว่าจะเป็นกิจการที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย  หรือกฎหมายต่างประเทศ)

2.หากเป็นการฝากเงินที่มีลักษณะคล้ายกับการประกันชีวิต กับ ธนาคาร ต้องเป็นธนาคารที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะ เช่น ธนาคารออมสิน  ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์   ที่มีข้อตกลงว่าธนาคารผู้รับฝากเงินจะจ่ายเงินและผลประโยชน์ตามข้อตกลงโดยอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของผู้ฝากเงิน  และมีกำหนดระยะเวลา 10 ปีขึ้นไป  ได้แก่  การฝากเงินออมสินประเภทสงเคราะห์ชีวิตและครอบครัวหรือประเภทสงเคราะห์ชีวิตและการศึกษา

3.กรมธรรม์ประกันชีวิตต้องมีกำหนดระยะเวลาประกันภัยตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป  ไม่ว่าจะเป็นการประกันชีวิตแบบออมทรัพย์  แบบบำนาญ ฯลฯ

4.ลดหย่อนได้เฉพาะสัญญาหลักที่คุ้มครองชีวิต  สัญญาย่อยหรือสัญญาเพิ่มเติมไม่สามารถนำมาลดหย่อนในส่วนนี้ได้  (ใช้บังคับสำหรับกรมธรรม์ที่เริ่มทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป)

5.กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีการรับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนอื่นในระหว่างอายุกรมธรรม์ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้จึงจะสามารถนำมาลดหย่อนได้

    5.1  กรณีได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนทุกปี  เงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนที่ได้รับจะต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี  เช่น  จ่ายเบี้ยประกันชีวิตปีละ 30,000.- บาท (ร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตที่จ่ายไปทั้งปีก็คือ 30,000. x 20%    = 6,000.- บาท)  ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนคืนมาปีละ 1,000.- บาท ซึ่งไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิต รายปี  กรณีนี้สามารถนำไปหักลดหย่อนได้  แต่ถ้าผลประโยชน์ตอบแทนเกินปีละ 6,000.- บาท จะไม่สามารถนำไปหักลดหย่อนได้

     5.2  กรณีได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนตามช่วงระยะเวลาที่ผู้รับประกันภัยกำหนด นอกเหนือจากข้อ 5.1 เช่น 2 ปี 3 ปี หรือ 5 ปี เป็นต้น จะต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตสะสมของแต่ละช่วงเวลาที่ผู้รับประกันกำหนด เช่น จ่ายเบี้ยประกันชีวิตปีละ 10,000.- บาท บริษัทประกันจ่ายผลประโยชน์คืนทุกๆ 5 ปี จำนวน 5,000.- บาท  (กำหนดเวลาจ่ายผลประโยชน์คืนคือ 5 ปี ดังนั้นฐานของการชำระเบี้ยประกันชีวิตสะสมก็คือ 10,000 x 5  = 50,000.- บาท ร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตสะสม ก็คือ 50,000 x 20% = 10,000.- บาท) กรณีนี้สามรถนำไปหักลดหย่อนได้

     5.3  กรณีได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนที่ไม่เป็นไปตาม 5.1 หรือ 5.2  ผลรวมของเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนสะสมตั้งแต่ปีแรกถึงปีที่มีการจ่ายเงิน หรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตสะสมทั้งหมดในช่วงระยะเวลาดังกล่าว (ช่วงระยะเวลาที่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตที่ได้จ่ายไปในช่วงระยะเวลาเดียวกันนั่นเอง)

        (ใช้บังคับสำหรับกรมธรรม์ที่เริ่มทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป)


2. เบี้ยประกันชีวิตสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ

ค่าลดหย่อน

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเบี้ยประกันชีวิต

ส่วนที่ 3  ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญเพิ่มขึ้นอีกใน  อัตราร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 200,000.- บาท 

(เงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษี  คือ เงินได้พึงประเมินที่นำมาแสดงในแบบแสดงรายการภาษี ภ.ง.ด.90 ,ภ.ง.ด.91 เพื่อรวมคำนวณภาษี เช่นมีเงินเดือน 500,000.- บาท หักยกเว้นเงินได้กรณีมีอายุตั้งแต่ 65 ปี ขึ้นไป จำนวน 190,000.- บาท เงินได้พึงประเมินที่นำไปกรอกในแบบ คือ 500,000 190,000 = 310,000.- บาท  ดังนั้นฐานในการคำนวณร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษี  คือ 310,000.- บาท นั่นเอง)

และเมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (กสช)  หรือ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข) หรือ เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน(กองทุนสงเคราะห์ครู) หรือเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แล้วต้องไม่เกิน 500,000.- บาท

 

1.ผู้รับประกัน (บริษัทประกัน)  ต้องประกอบกิจการในประเทศไทยเท่านั้น (ไม่ว่าจะเป็นกิจการที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย  หรือกฎหมายต่างประเทศ)

2.กรมธรรม์ประกันชีวิตต้องเป็นการประกันชีวิตแบบบำนาญ  ที่มีระยะเวลาประกันภัยตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป

3.มีการกำหนดการจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญเป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะจ่ายเท่ากันทุกงวดหรือจ่ายในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาเอาประกันก็ได้  โดยจะจ่ายตามการทรงชีพที่อาจมีการรับรองจำนวนงวดในการจ่ายที่แน่นอน

4.มีการกำหนดช่วงอายุของการจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญเมื่อผู้มีเงินได้มีอายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ถึง 85 ปี หรือกว่านั้น และผู้มีเงินได้ต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยครบถ้วนแล้วก่อนได้รับผลประโยชน์เงินบำนาญ

 

(ใช้บังคับสำหรับกรมธรรม์ที่เริ่มทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป)


หลักฐานที่นำมาใช้สำหรับลดหย่อนภาษี
        1. กรณีกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ได้เริ่มทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป ผู้มีเงินได้ต้องแจ้งความประสงค์ที่จะใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ต่อผู้รับประกันภัยที่ได้เอาประกันไว้
        2. กรณีกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ได้ทำก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2563  หากผู้มีเงินได้ เลือกไม่แจ้งความประสงค์การใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ต่อผู้รับประกันภัยที่ได้เอาประกันไว้ ผู้มีเงินได้ต้องมี หลักฐานจากผู้รับประกันภัยที่พิสูจน์ได้ว่า มีการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต  ดังนี้
               2.1   ใบเสร็จรับเงิน หรือหนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกันชีวิตจากบริษัทประกัน (วันเดือนปีที่ชำระเงิน ต้องเป็นปีเดียวกันกับปีภาษีที่ขอหักลดหย่อน)
               2.2   ใบเสร็จรับเงิน หรือหนังสือรับรองการชำระเบี้ยประกันชีวิต ต้องมีการระบุข้อความเพิ่มเติมในกรณีดังต่อไปนี้
                       2.2.1  กรณีกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติม (สัญญาย่อยหรือสัญญาเพิ่มเติม) ต้องระบุจำนวนเบี้ยประกันชีวิต กับเบี้ยประกันภัยที่จ่ายสำหรับการคุ้มครองอื่นเพิ่มเติม แยกออกจากกันให้ชัดเจน (ใช้บังคับสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่เริ่มทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป)
                        2.2.2  กรณีกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีการรับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์ ต้องระบุเงื่อนไขและรายละเอียดการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนคืน (ใช้บังคับสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่เริ่มทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป)
                2.3  กรณีกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญ  ต้องระบุว่าเป็นการจ่ายเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญที่ได้รับยกเว้นภาษี (ใช้บังคับสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่เริ่มทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป)
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 361) , ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 362)
       3. ชื่อผู้ชำระเบี้ยประกันชีวิตต้องเป็นบุคคลคนเดียวกับผู้เอาประกัน  เนื่องจากกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า เป็นเงินได้ที่ผู้มีเงินได้ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยในปีภาษีสำหรับการประกันชีวิตของผู้มีเงินได้เอง  ดังนั้นกรณีที่ทำประกันชีวิตให้บุตรจึงไม่สามารถนำมาใช้ได้

หลักเกณฑ์ในการหักค่าลดหย่อน

         การหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตสามารถนำไปหักได้ตลอดปีภาษี ไม่ว่าการทำประกันชีวิตนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ตามในปีภาษีนั้น เช่น เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2561 ได้มีการทำประกันชีวิตฉบับใหม่และชำระเบี้ยประกันชีวิตไปจำนวน 100,000.- บาท ก็สามารถนำเบี้ยประกันชีวิตจำนวน 100,000.- บาท ไปหักลดหย่อนภาษีในปี 2561 ได้ทั้งจำนวน โดยไม่ได้คำนึงถึงระยะเวลาในการทำ

สถานภาพการสมรส

และการยื่นแบบ

เบี้ยประกันชีวิต

เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ

 

1.กรณีคู่สมรสไม่มีเงินได้

           ผู้มีเงินได้

           คู่สมรสไม่มีเงินได้

(การสมรสมีอยู่ตลอดปีภาษี)

 

ตามจำนวนที่จ่ายจริงไม่เกิน 100,000.- บาท

ตามจำนวนที่จ่ายจริงไม่เกิน 10,000.- บาท

 

 

*หักเพิ่ม 15% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000.- บาท

2.กรณีคู่สมรสไม่มีเงินได้

           ผู้มีเงินได้

           คู่สมรสไม่มีเงินได้

(การสมรสระหว่างปีภาษี)

 

ตามจำนวนที่จ่ายจริงไม่เกิน 100,000.- บาท

ไม่สามารถหักลดหย่อนได้

 

 

*หักเพิ่ม 15% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000.- บาท

 

3.กรณีต่างฝ่ายต่างมีเงินได้

แยกยื่นแบบ

           สามีผู้มีเงินได้

           ภริยาผู้มีเงินได้

 

 

ตามจำนวนที่จ่ายจริงไม่เกิน 100,000.- บาท

ตามจำนวนที่จ่ายจริงไม่เกิน 100,000.- บาท

 

 

*หักเพิ่ม 15% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000.- บาท

*หักเพิ่ม 15% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000.- บาท

4.กรณีต่างฝ่ายต่างมีเงินได้

ยื่นแบบรวมกัน  ไม่ว่าจะยื่นในนามสามีหรือภริยาก็ตาม

           สามีผู้มีเงินได้

           ภริยาผู้มีเงินได้

 

 

 

ตามจำนวนที่จ่ายจริงไม่เกิน 100,000.- บาท

ตามจำนวนที่จ่ายจริงไม่เกิน 100,000.- บาท

 

 

 

*หักเพิ่ม 15% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000.- บาท

*หักเพิ่ม 15% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 200,000.- บาท

* หมายเหตุ การลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญเพิ่มขึ้นได้อีกในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 200,000.- บาท  และเมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (กสช)  หรือ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข) หรือ เงินสะสมเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน(กองทุนสงเคราะห์ครู) หรือเงินค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แล้วต้องไม่เกิน 500,000.- บาท

          จริงๆ แล้วบางคนอาจจะสับสนเรื่องการใช้เบี้ยประกันชีวิตในแต่ละตัว ว่าจะเข้าเงื่อนไขลดหย่อนในส่วนไหน  เช่น เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ  ลองสังเกตุดูเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญเข้าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการหักลดหย่อนในส่วนแรกและส่วนที่สองทุกประการ  ทีนี้ก็อยู่ที่การบริหารจัดการของแต่ละคนแล้วล่ะว่าทำประกันชีวิตแบบไหนกันบ้าง ยกตัวอย่างง่ายๆ (สมมุติว่าเบี้ยประกันชีวิตแต่ละตัวมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขทุกอย่างเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด)

        กรณีที่ 1 ในปี 2561 นาย ก มีเงินได้เงินเดือนทั้งปี  2,000,000.- บาท จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญเพียงอย่างเดียวปีละ 350,000.- บาท  นาย ก จะสามารถหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตได้ดังนี้
  -   เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ        =    100,000.- บาท
       (ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000.-บาท)               
  -   เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ        =    200,000.- บาท
        (ร้อยละ 15 ของเงินได้ 2,000,000 = 300,000.-บาท)
        (หักได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินซึ่งต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 200,000.- บาท  และเมื่อรวมกับ กสล/กบข/กองทุนสงเคราะห์ครู/RMF แล้วต้องไม่เกิน 500,000.- บาท)
   -   รวมนาย ก หักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตได้ทั้งสิ้น   =    300,000.- บาท

         กรณีที่ 2 ในปี 2561 นาย ก มีเงินได้เงินเดือนทั้งปี  2,000,000.- บาท จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญปีละ 350,000.- บาท  และซื้อประกันชีวิตเพิ่มในปีนี้อีกจ่ายเบี้ยประกันชีวิตไปจำนวน 50,000.- บาท  นาย ก จะสามารถหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตได้ดังนี้
  -   เบี้ยประกันชีวิต                      =      50,000.- บาท
      เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ   =      50,000.- บาท
      (ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000.-บาท)               
 -   เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ    =    200,000.- บาท
      (ร้อยละ 15 ของเงินได้ 2,000,000 = 300,000.-บาท)
      (หักได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินซึ่งต้องเสียภาษีแต่ไม่เกิน 200,000.- บาท  และเมื่อรวมกับ กสล/กบข/กองทุนสงเคราะห์ครูู/RMF แล้วต้องไม่เกิน 500,000.- บาท)
 -   รวมนาย ก หักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตได้ทั้งสิ้น   =    300,000.- บาท 

          กรณีที่ 3 ในปี 2561 นาย ก มีเงินได้เงินเดือนทั้งปี  2,000,000.- บาท จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญปีละ 200,000.- บาท  และซื้อประกันชีวิตเพิ่มในปีนี้อีกจ่ายเบี้ยประกันชีวิตไปจำนวน 50,000.- บาท  นาย ก จะสามารถหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตได้ดังนี้
  -   เบี้ยประกันชีวิต                        =      50,000.- บาท
      เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ     =      50,000.- บาท
       (ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000.-บาท)               
  -   เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ     =    150,000.- บาท
      (ร้อยละ 15 ของเงินได้ 2,000,000 = 300,000.-บาท)
      (หักได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินซึ่งต้องเสียภาษีแต่ไม่เกิน 200,000.- บาท  และเมื่อรวมกับ กสล/กบข/กองทุนสงเคราะห์ครูู/RMF แล้วต้องไม่เกิน 500,000.- บาท)
  -   รวมนาย ก หักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตได้ทั้งสิ้น  =    250,000.- บาท

           กรณีที่ 4 ในปี 2561 นาย ก มีเงินได้เงินเดือนทั้งปี  2,000,000.- บาท จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญปีละ 100,000.- บาท  และซื้อประกันชีวิตเพิ่มในปีนี้อีกจ่ายเบี้ยประกันชีวิตไปจำนวน 150,000.- บาท  นาย ก จะสามารถหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตได้ดังนี้
  -   เบี้ยประกันชีวิต                        =    100,000.- บาท
      (ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000.-บาท)               
  -   เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ    =    100,000.- บาท
      (ร้อยละ 15 ของเงินได้ 2,000,000 = 300,000.-บาท)
      (หักได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินซึ่งต้องเสียภาษีแต่ไม่เกิน 200,000.- บาท  และเมื่อรวมกับ กสล/กบข/กองทุนสงเคราะห์ครูู/RMF แล้วต้องไม่เกิน 500,000.- บาท)
  -   รวมนาย ก หักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตได้ทั้งสิ้น  =    200,000.- บาท

           กรณีที่ 5 ในปี 2561 นาย ก มีเงินได้เงินเดือนทั้งปี  2,000,000.- บาท จ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญปีละ 300,000.- บาท จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 250,000.- บาท ซื้อ RMF 200,000.- บาท นาย ก จะสามารถหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตได้ดังนี้
   -   เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ      =    100,000.- บาท
       (ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 100,000.-บาท)             
   -   เบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ      =      60,000.- บาท
        * เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หักเป็นค่าลดหย่อน 10,000 บาท 
           ยกเว้นเงินได้จำนวน                        240,000 บาท
        * ยกเว้นเงินได้ RMF จำนวน             200,000 บาท
           รวม                                                 440,000 บาท                             
         (ร้อยละ 15 ของเงินได้ 2,000,000 = 300,000.-บาท แต่ละตัวไม่เกินกฎหมายกำหนด)
         (หักได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินซึ่งต้องเสียภาษีแต่ไม่เกิน 200,000.- บาท  และเมื่อรวมกับ กสล/กบข/กองทุนสงเคราะห์ครูู/RMF แล้วต้องไม่เกิน 500,000.- บาท ดังนั้นประกันชีวิตแบบบำนาญจึงใช้ได้เพียง 500,000 - 440,000 = 60,000 )
   -   รวมนาย ก หักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตได้ทั้งสิ้น  =    160,000.- บาท

           ลองไปพิจารณาถึงความแตกต่างในการใช้เบี้ยประกันชีวิตเพื่อลดหย่อนภาษีในแต่ละตัวกันดู หากต้องการจะซื้อประกันชีวิตเพิ่มเพื่อนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีก็ลองคำนวณว่าจะซื้อประกันชีวิตแบบไหนเพื่อสามารถไปใช้ลดหย่อนให้เกิดประโยชน์สูงสุด
           ฐานในการคำนวณร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษี ดูได้ตาม Link นี้ ฐานการคำนวณ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ้างอิง :
1. กฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
2. ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 172 ) เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไข เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นเบี้ยประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ตามข้อ 2(61) แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และที่แก้ไขเพิ่มเติม
3. ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 194 ) เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไข เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบำนาญของผู้มีเงินได้ตามข้อ 2(61) แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และที่แก้ไขเพิ่มเติม

       

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น