สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการไถ่ถอนหน่วยลงทุนใน RMF - TaxTeller

วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2561

สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการไถ่ถอนหน่วยลงทุนใน RMF

สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการไถ่ถอนหน่วยลงทุน RMF  

     จากตอนที่แล้วเราพูดถึงสิทธิประโยชน์จากการซื้อ RMF สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษี และไม่เกิน 500,000 บาทนั้น เมื่อมีการซื้อก็ต้องมีการไถ่ถอนหรือขาย RMF ที่เราลงทุนไป 
    เมื่อเราไถ่ถอนหรือขาย RMF เหล่านั้น เราจะได้รับเงินหรือผลประโยชน์จากการที่เราลงทุนไปกลับคืนมา ซึ่งเงินลงทุนนั้นอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงไปก็แล้วแต่ความเสี่ยงที่เกิดจากการลงทุน เงินและผลประโยชน์ที่ได้จากการลงทุนถือเป็นเงินได้พึงประเมินที่เราต้องนำไปรวมคำนวณภาษี แต่ก็มีกฎหมายกำหนดการยกเว้นให้ไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีได้ หากเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด แล้วมีหลักเกณฑ์เงื่อนไขอย่างไรเรามาดูกัน

หลักเกณฑ์และเงื่อนไข

     การไถ่ถอนหรือขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้

     1. การซื้อ RMF ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้

         1.1  ต้องซื้อหน่วยลงทุน RMF ไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้ง และต้องไม่ระงับการซื้อหน่วยลงทุนเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี ติดต่อกัน
         1.2  การซื้อ RMF อาจจะซื้อ 1 กองทุน หรือเกินกว่า 1 กองทุนก็ได้ แต่การซื้อนั้นต้องซื้อไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในแต่ละปี หรือมีจำนวนไม่น้อยกว่า 5,000 บาทต่อปี
         1.3  ต้องถือหน่วยลงทุน RMF  ไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก
                การนับระยะเวลาการถือหน่วยลงทุน RMF ให้นับเฉพาะปีที่ได้ซื้อหน่วยลงทุน และได้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษี และไม่เกิน 500,000 บาท (ยกเว้นเฉพาะกรณีได้มีการไถ่ถอนหน่วยลงทุน เนื่องจาก ทุพพลภาพ หรือตาย )
                เช่น นาย ก ได้ซื้อ RMF เมื่ออายุ 50 ปี เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2557 และซื้ออีกในปี 2558, 2559, 2560 และ 2561 โดยนำไปหักลดหย่อนภาษีทุกปี ต่อมาได้ขายไปในปี 2562  ถือได้ว่า นาย ก ได้ถือครองหน่วยลงทุนในปี 2557 - 2561 รวมระยะเวลาการถือครอง 5 ปี แต่หากว่าในปี 2560 นาย ก ไม่ได้ซื้อ RMF การนับระยะเวลาการถือครองจะนับแค่ปี 2557, 2558, 2559 และ 2561 รวมระยะเวลาการถือครองเพียงแค่ 4 ปีเท่านั้นเอง
        1.4 ต้องไม่ได้รับเงินปันผล หรือเงินอื่นใดจากกองทุนรวม RMF ในระหว่างการลงทุน และต้องได้รับเงินลงทุนและผลประโยชน์เมื่อมีการไถ่ถอนหน่วยลงทุนเท่านั้น
        1.5 ต้องไม่กู้ยืมเงินหรือเบิกเงินจากกองทุนรวม RMF ที่ได้ซื้อหน่วยลงทุนไว้

     2. สาเหตุของการไถ่ถอนหน่วยลงทุน RMF

         2.1 เพราะเหตุตาย เป็นกรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนถึงแก่ความตายในระหว่างการถือหน่วยลงทุน RMF (ไม่จำกัดระยะเวลาในการถือครองหน่วยลงทุนอาจจะไม่ถึง 5 ปีก็ได้)
         2.2 เพราะเหตุทุพพลภาพ  เป็นกรณีที่แพทย์ที่ทางราชการรับรองได้ตรวจและแสดงความเห็นว่า ผู้ถือหน่วยลงทุนทุพพลภาพจนไม่สามารถประกอบอาชีพ ซึ่งก่อให้เกิดเงินได้ที่จะนำมาซื้อหน่วยลงทุน RMF ได้อีกต่อไป (ไม่จำกัดระยะเวลาในการถือครองหน่วยลงทุนอาจจะไม่ถึง 5 ปีก็ได้)
         2.3 เพราะเหตุสูงอายุ เป็นกรณีที่ผู้ถือหน่วยลงทุนมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ และ ต้องถือหน่วยลงทุน RMF มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก

การยกเว้นเงินได้

         ยกเว้นเงินหรือผลประโยชน์ที่เกิดจากการลงทุนในหน่วยลงทุน RMF ที่ได้นำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษี (ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษี และไม่เกิน 500,000 บาทในแต่ละปีภาษี)
         ตัวอย่าง นาย ก มีเงินได้พึงประเมินตั้งแต่ปี 2555 - 2560 ปีละ 2,000,000 บาท ได้ซื้อหน่วยลงทุน RMF ในปี 2555, 2556, 2557, 2558, 2559, 2560 ปีละ 500,000 บาท และใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้ทุกปี ปีละ 300,000 บาท (ร้อยละ 15 ของ 2,000,000 เท่ากับ 300,000 บาท) ในปี 2561 นาย ก มีอายุ 56 ปี และได้ขายหน่วยลงทุน RMF ที่ได้ซื้อมาในปี 2555 ได้รับผลตอบแทนเพิ่มร้อยละ 10 รวมได้รับเงินจากการขายหน่วยลงทุน RMF มาจำนวน 550,000 บาท
          1. นาย ก มีอายุเกิน 55 ปี และมีระยะเวลาการถือครองหน่วยลงทุน RMF ไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่ซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก เข้าเงื่อนไขการได้รับยกเว้น
          2. การได้สิทธิยกเว้น นาย ก จะได้สิทธิยกเว้นเฉพาะผลประโยชน์ที่เกิดจากส่วนที่ นาย ก นำไปลดหย่อนภาษี
             -   นาย ก ใช้สิทธิลดหย่อน RMF ในปี 2555           = 300,000 บาท
                  ผลประโยชน์ในส่วนนี้ ร้อยละ 10                        =   30,000 บาท (ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้)
             -   นาย ก ไม่ได้ใช้สิทธิลดหย่อน RMF ในปี 2555  = 200,000 บาท
                  ผลประโยชน์ในส่วนนี้ ร้อยละ 10                        =   20,000 บาท (ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้)
         3. ในปีภาษี 2561 นาย ก ต้องกรอกรายการในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ (ภ.ง.ด. 90 ) ในส่วนของการไถ่ถอน RMF ดังนี้



โดยต้องนำผลประโยชน์จากการไถ่ถอน RMF จำนวน 20,000 บาทที่ไม่ได้รับยกเว้นไปรวมคำนวณภาษี

หลักฐานที่ใช้ในการยกเว้นเงินได้

        1. หลักฐานจากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่แสดงจำนวนเงินได้จากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ
        2. ใบมรณบัตร (กรณีเสียชีวิต)
        3. ใบรับรองแพทย์ (กรณีทุพพลภาพ)

สามารถดูรายละเอียดหลักเกณฑ์การใช้สิทธิลดหย่อนจากการซื้อหน่วยลงทุน RMF (คลิกที่นี่)
        


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น