ประกันสังคม & กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ - TaxTeller

วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ประกันสังคม & กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ประกันสังคม & กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

         ลูกจ้าง เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญยิ่งในการประกอบธุรกิจ ดังนั้นผู้ประกอบธุรกิจต่างๆ ต้องให้ความสำคัญกับลูกจ้างเหล่านั้น โดยการจัดให้มีสวัสดิการทั้งที่กฎหมายกำหนด และผู้ประกอบธุกิจเป็นผู้กำหนดเอง เพื่อสร้างหลักประกันในอนาคต โดยทั่วๆไปที่เรารู้จักกันดีในรูปแบบของประกันสังคม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
        ประกันสังคม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นเหมือนกองทุนที่นายจ้างและลูกจ้าง ร่วมมือกันเพื่อให้ลูกจ้างมีสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐาน หรือเป็นหลักประกันให้แก่ครอบครัวของลูกจ้างหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น รวมทั้งยังสามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ด้วย

ประกันสังคม

        ประกันสังคม คือการสร้างหลักประกันและความมั่นคงให้แก่ลูกจ้าง เมื่อประสบปัญหา หรือความเดือดร้อนทางด้านการเงิน เนื่องจากการประสบเคราะห์ร้ายหรือมีเหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดปัญหาในการดำรงชีพ ในรูปแบบของประโยชน์ทดแทน ได้แก่ บริการทางการแพทย์ เงินทดแทนการขาดรายได้ ซึ่งอาจเกิดจากการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยนอกงาน การคลอดบุตร การทุพพลภาพ  ค่าทำศพ  เงินสงเคราะห์บุตร การชราภาพ และการว่างงาน
        ผู้ประกันตน  มีหน้าที่ที่จะต้องส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคม เพื่อเฉลี่ยความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้น แบ่งเป็น
           1 ผู้ประกันตนภาคบังคับ คือ พนักงานบริษัทเอกชนทั่วไป ซึ่งมีสถานะเป็นลูกจ้างที่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่มีพนักงานตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป อายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี และไม่เกิน 60 ปี โดยต้องส่งเงินสมทบเข้ากองทุน คิดเป็นสัดส่วนดังนี้ ลูกจ้าง 5%  + นายจ้าง 5% + รัฐบาล 2.75% ของฐานเงินค่าจ้าง ขั้นต่ำตั้งแต่ 1,650 บาท แต่ไม่เกิน 15,000 บาท จะได้รับความคุ้มครอง มีดังนี้ กรณีเจ็บป่วย / อุบัติเหตุ กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีชราภาพ และกรณีว่างงาน
          2. ผู้ประกันตนภาคสมัครใจ  แบ่งได้เป็น 2 กรณี คือ
                  2.1 บุคคลที่เคยทำงานอยู่ในบริษัทเอกชนมาก่อนแล้ว ลาออกแต่ต้องการรักษาสิทธิประกันสังคมไว้ จึงสมัครเข้าใช้สิทธิประกันสังคมภาคสมัครใจแทน โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นผู้ประกันตนภาคบังคับมาแล้วไม่ต่ำกว่า 12 เดือน และลาออกมาแล้วไม่ต่ำกว่า 6 เดือน อีกทั้งต้องไม่เป็นผู้ทุพพลภาพ ผู้ประกันตนต้องส่งเงินเข้ากองทุน 432  บาทต่อเดือน และรัฐบาลจะช่วยสมทบอีก 120 บาทต่อเดือน จะได้รับความคุ้มครอง ดังนี้ กรณีเจ็บป่วย / อุบัติเหตุ กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต กรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร และกรณีชราภาพ
                  2.2 บุคคลที่ไม่ได้เป็นลูกจ้างในบริษัทเอกชน  และไม่เคยสมัครเป็นผู้ประกันตนภาคบังคับ  เป็นผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ หรือแรงงานนอกระบบ มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี แต่ไม่เกิน 60 ปี สามารถเลือกสิทธิประโยชน์ได้ ซึ่งมีให้เลือก 2 กรณี
 - จ่าย 100 บาท ต่อเดือน (จ่ายเอง 70 บาท รัฐบาลสมทบ 30 บาท) ผู้ประกันตนจะได้รับความคุ้มครอง คือ กรณีเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ และกรณีเสียชีวิต
 - จ่าย 150 บาท ต่อเดือน (จ่ายเอง 100 บาท รัฐบาลสมทบ 50 บาท) ผู้ประกันตนจะได้รับความคุ้มครอง คือ กรณีเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต และกรณีชราภาพ

หลักฐานในการใช้สิทธิลดหย่อนเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม


        1. กรณีที่นายจ้างเป็นผู้หักเงินสมทบและนำส่งกองทุนประกันสังคมให้ ให้ใช้หนังสือรับรองภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่นายจ้างออกให้ โดยระบุจำนวนเงินที่จ่ายสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไว้ด้วย
        2. กรณีที่ผู้มีเงินได้เป็นผู้จ่ายเงินสมทบและนำส่งกองทุนประกันสังคมด้วยตนเอง  ให้ใช้หลักฐานใบเสร็จรับเงินที่ได้รับจากกองทุนประกันสังคม

การใช้สิทธิลดหย่อน


         ผู้มีเงินได้สามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีจากเงินสมทบที่ตนเองได้จ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินที่กฎหมายว่าด้วยประกันสังคมกำหนด
        การใช้สิทธิลดหย่อนประกันสังคมให้ใช้สิทธิเฉพาะผู้มีเงินได้  ยกเว้นกรณีที่คู่สมรสไม่มีเงินได้ และความเป็นสามีภริยามีอยู่ตลอดปีภาษี  ผู้มีเงินได้สามารถนำเงินสมทบที่สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ได้จ่ายไปตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินที่กฎหมายว่าด้วยประกันสังคมกำหนด มาใช้สิทธิลดหย่อนได้ 
        เช่น  นาย ก เป็นผู้มีเงินได้ ในปีภาษี 2560 ได้จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม จำนวน 9,000.- บาท และ นาง ข ซึ่งเป็นคู่สมรสไม่มีเงินได้(ความเป็นสามีภริยามีอยู่ตลอดปีภาษี) ได้จ่ายเงินสมทบภาคสมัครใจเข้ากองทุนประกันสังคม ในปีภาษี 2560 จำนวน 1,800.-บาท 
นาย ก สามารถใช้สิทธิลดหย่อนเงินสมทบประกันสังคม ได้ดังนี้
     -  เงินสมทบประกันสังคม ของนาย ก   จำนวน      9,000.- บาท
     -  เงินสมทบประกันสังคม ของนาง ข   จำนวน      1,800.- บาท
     รวม นาย ก สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้             10,800.- บาท

เงินประโยชน์ทดแทนที่ได้รับจากกองทุนประกันสังคม

        เงินประโยชน์ทดแทนที่ผู้ประกันตนได้รับจากกองทุนประกันสังคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม  ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งจำนวน

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund : PVD)
      กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) คือกองทุนที่นายจ้างและลูกจ้างร่วมกันจัดตั้ง เพื่อให้ลูกจ้างมีเงินสำรองไว้ใช้เมื่อยามเกษียณอายุ ออกจากงาน ทุพพลภาพ และมีเงินก้อนให้ครอบครัวหากเสียชีวิต
        เงินกองทุนจะเป็นเงินที่ลูกจ้างจ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เรียกว่า "เงินสะสม" ซึ่งกฎหมายกำหนดให้สะสมได้ตั้งแต่ 3 - 15% ของเงินเดือน ส่วนนายจ้างจะจ่ายเงินเข้ากองทุนอีกส่วนหนึ่ง เรียกว่า "เงินสมทบ" ซึ่งกฎหมายกำหนดให้สมทบในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าเงินสะสมของลูกจ้าง โดยลูกจ้างหรือสมาชิก จะได้รับเงินก้อนเมื่อสิ้นสมาชิกภาพ ด้วยเหตุ ออกจากงาน เกษียณอายุ โอนย้ายกองทุน เสียชีวิต  ตามเงื่อนไขที่บริษัทกำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุน แบ่งเป็น
            1. เงินสะสม + ผลประโยชน์ของเงินสะสม (ลูกจ้างสะสม) และ
            2. เงินสมทบ + ผลประโยชน์ของเงินสมทบ (นายจ้างสมทบ)
ตัวอย่าง ใบแจ้งยอดเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
    จะเห็นได้ว่าเงินสะสม และเงินสมทบ เป็นส่วนที่ลูกจ้างและนายจ้างจ่ายเข้ากองทุน  ส่วนผลประโยชน์ของเงินสะสมและเงินสมทบ จะเกิดจาก บริษัทจัดการหรือบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ) นำเงินที่ลูกจ้างและนายจ้างจ่ายไปลงทุนในตราสารทางการเงินประเภทต่างๆ เพื่อสร้างดอกผลให้กับกองทุน แล้วนำดอกผลที่เกิดขึ้นมาเฉลี่ยคืนให้กับสมาชิกตามสัดส่วนของเงินที่แต่ละคนมีอยู่ในกองทุน ซึ่งดอกผลนั้นจะมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับความสมารถของผู้จัดการกองทุน

การหักค่าลดหย่อน

        การจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพสามารถนำไปลดหย่อนภาษีและยกเว้นภาษี ได้ดังนี้
        ส่วนแรก  นำไปหักในส่วนของค่าลดหย่อนตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท
        ส่วนที่สอง  หากได้จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพในแต่ละปีเกินกว่า 10,000 บาท ให้นำไปหักลดหย่อนในส่วนแรกก่อน ที่เหลือให้นำไปหักออกจากเงินได้พึงประเมินในส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 490,000 บาท
ตัวอย่าง  นาย ก มีเงินเดือนในปีภาษี 2560 จำนวน 6,000,000 บาท จ่ายเงินสะสมเข้ากองทนสำรองเลี้ยงชีพในปี 2560 จำนวน 180,000 บาท นาย ก ใช้สิทธิลดหย่อนเงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ดังนี้
    1. หักเป็นค่าลดหย่อนเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ       จำนวน 10,000.- บาท
    2. เงินได้พึงประเมิน                                                         6,000,000.- บาท
        หักเงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนฯ                                                 170,000.- บาท 
          (ส่วนที่เกิน 10,000 บาทแต่ไม่เกิน 490,000 บาท)
         คงเหลือเงินได้พึงประเมินก่อนนำไปหักค่าใช้จ่าย      5,830,000.- บาท

หลักฐานในการใช้สิทธิลดหย่อนเงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

        1. หนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย ที่ระบุจำนวนเงินที่จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
        2. ใบแจ้งยอดเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

ผลประโยชน์ที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

        เมื่อเราสิ้นสภาพจากการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ว่ากรณีใดก็ตาม เราจะได้รับเงินและผลประโยชน์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินดังกล่าวถือเป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องนำมารวมคำนวณภาษี ยกเว้น 2 กรณีดังต่อไปนี้ที่ไม่ต้องนำเงินดังกล่าวมารวมคำนวณภาษี
        1. ได้รับเงินหรือผลประโยชน์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เนื่องจาก ออกจากงาน เพราะ ตาย ทุพพลภาพ หรือมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์
        2. ออกจากงานก่อนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ และมีสิทธิได้รับเงินหรือผลประโยชน์จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แต่ได้คงเงินหรือผลประโยชน์นั้นไว้ทั้งจำนวนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จนกระทั่ง ตาย ทุพพลภาพ หรืออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ จึงได้รับเงินหรือผลประโยชน์นั้น
        การจะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้ตามข้อ 1และ 2 ไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
                  1) กรณีตาย ต้องมีหลักฐานที่แสดงถึงการตาย (ใบมรณบัตร)
                  2) กรณีทุพพลภาพ  ต้องมีหลักฐานจากแพทย์ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้ตรวจและแสดงความเห็นว่าทุพพลภาพ (ใบรับรองแพทย์)
                  3) กรณีออกจากงานเมื่ออายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ต้องเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ดังนี้
                      - เป็นสมาชิกมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีต่อเนื่องกัน หรือ
                      - ถ้าเป็นสมาชิกยังไม่ถึง 5 ปีต่อเนี่องกัน ต้องเป็นสมาชิกไปจนมีระยะเวลาการเป็นสมาชิกไม่น้อยกว่า 5 ปีต่อเนื่องกัน หรือ
                      - ถ้าเคยเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ แล้วได้โอนเงินหรือผลประโยชน์ที่คงไว้ทั้งจำนวนไปยังกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ระยะเวลาการเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการรวมกับการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วต้องไม่น้อยกว่า 5 ปี
(การเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถ้ามีการโอนเงินหรือผลประโยชน์ระหว่างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ให้นับอายุการเป็นสมาชิกต่อเนื่องกัน)
         จะเห็นได้ว่าทั้งประกันสังคม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นหลักประกันความมั่นคง และสวัสดิการของลูกจ้าง เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนหากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นกับชีวิต การทำประกันสังคม และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงมีประโยชน์ต่อลูกจ้างและครอบครัวของลูกจ้างเป็นอย่างมาก และเงินที่จ่ายก็ไม่ได้มากจนก่อให้เกิดความเดือดร้อนกับลูกจ้าง เมื่อเทียบกับสิ่งที่จะได้รับกลับมาในภายภาคหน้า


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น