จด VAT ผ่าน NET อย่างไรให้ผ่านฉลุย (ตอนจบ) - TaxTeller

วันเสาร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

จด VAT ผ่าน NET อย่างไรให้ผ่านฉลุย (ตอนจบ)


จด VAT ผ่าน NET อย่างไรให้ผ่านฉลุย (ตอนจบ)

        จากตอนที่แล้ว จด VAT ผ่าน NET อย่างไรให้ผ่านฉลุย EP.1 เรารู้กันแลัวว่าเราประกอบกิจการแบบไหน ต้องไปเลือกประเภทการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกันแบบไหน  ในที่นี้จะขอแนะนำให้ยื่นขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านอินเทอร์เน็ตของกรมสรรพากร  บริการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม  เนื่องจากให้บริการทุกวัน ตลอด 24 ชัวโมง  และสะดวกไม่ต้องพิมพ์เอกสาร หากไม่มีอุปสรรคใดๆ การเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะมีผลตั้งแต่วันที่ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01) เลย

วันที่ในแบบคำขอมีความหมายอย่างไร

        1. วันที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน คือ วันเดือนปีที่ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีฒุลค่าเพิ่มผ่านทางอินเทอร์เน็ต (ภ.พ.01) ยกเว้นกรณีที่เจ้าพนักงานสรรพากรไม่อนุมัติการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) ให้ ถือว่าไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน
            เราสามารถใช้คำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านอินเทอร์เน็ต (ภ.พ.01) ที่มีเลขอ้างอิง เป็นเสมือนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้จนกว่าจะได้รับใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20)
        2. วันเริ่มประกอบการ  คือ วันเดือนปี ที่เริ่มประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ
        3. วันที่ประสงค์จะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน คือ วันที่ผู้ประกอบการต้องการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะได้รับสิทธิ์ในการออกใบกำกับภาษีขาย และใช้ใบกำกับภาษีซื้อได้ แต่ต้องใส่ันที่ล่วงหน้าจากวันที่ปัจจุบันไม่น้อยกว่า 15 วัน แต่ไม่เกิน 30 วัน
        4. วันที่รายรับถึงเกณฑ์จดทะเบียน คือ วันที่มีรายรับเกิน 1,800,000 บาท
เช่น  วันที่ 15 มกราคม 2561 มีรายรับ 500,000 บาท    วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2561 มีรายรับ 600,000 บาท
วันที่ 3 มีนาคม 2561 มีรายรับ 200,000 บาท  วันที่10 มีนาคม 2561 มีรายรับ 400,000 บาท  วันที่ 15 มีนาคม 2561 มีรายรับ 150,000 บาท จะเห็นว่าตั้งแต่ตันปีเป็นต้นมาจนถึงวันที่ 15 มีนาคม 2561 มีรายรับรวม 1,850,000 บาท เกิน 1,800,000 บาท ในวันที่ 15 มีนาคม 2561 ดังนั้นวันที่ 15 มีนาคม 2561 จึงถือว่าเป็นวันที่รายรับถึงเกณฑ์จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

วิธีการบันทึกข้อมูลคำขอจดทะเบียนภาษีมุลค่าเพิ่มผ่านทางอินเทอร์เน็ต

         ขอแนะนำให้เข้าไปอ่าน คู่มือการใช้ระบบจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านทางอินเทอร์เน็ต  ที่กรมสรรพากรได้จัดทำขึ้นเพื่อแนะนำขั้นตอนและวิธีการบันทึกข้อมูลในแบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อจะได้ไม่เกิดข้อผิดพลาด
        ในการบันทึกประเภทของการประกอบกิจการให้บันทึกอย่างน้อย 1 ประเภท สูงสุดไม่เกิน 6 ประเภทกิจการ โดยเลือกชนิดของการประกอบการเป็น การผลิต ส่งออก ขายส่ง ขายปลีก หรือให้บริการ แล้วระบุรายละเอียดของกิจการโดยให้ระบุกิจการที่เป็นกิจการหลัก หรือคิดว่าจะมีรายได้ส่วนใหญ่มาจากกิจการประเภทนี้เป็นอันดับแรกก่อน อันดับต่อไปเป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่อง หรือเกี่ยวข้องที่เราจะทำ

เอกสารหลักฐานที่ต้องเตรียมให้เจ้าหน้าที่ตรวจ

        1. ตามประเภทของการเป็นผู้ประกอบการ
            1.1 กรณีเป็นบุคคลธรรมดา ถ้าเป็นคนไทยก็ไม่มีปัญหาเพราะเรามีฐานข้อมูลในทะเบียนราษฎรกันอยู่แล้ว  แต่หากเป็นคนต่างด้าว ต้องมี
                  - ใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
                  - หนังสือเดินทาง หรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง หรือ ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว
            1.2 คณะบุคคล ห้างหุ้นส่วนสามัญ ต้องมี
                  - หนังสือการจัดตั้งคณะบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนสามัญ
                  - หากผู้ร่วมจัดตั้งคณะบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนสามัญ เป็นคนต่าด้าว ต้องมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว  หนังสือเดินทาง หรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง หรือ ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว
           1.3 บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือกิจการร่วมค้า ก็ต้องมีหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ และกรณีอื่นดังนี้
                - หากเป็นผู้ประกอบการที่อยู่ต่างประเทศ และได้มีการขายสินค้าหรือให้บริการในประเทศไทยเป็นปกติธุระ โดยมีตัวแทนอยู่ในประเทศไทย และตัวแทนในประเทศไทยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ประกอบการที่อยู่ต่างประเทศ  จะต้องมีหนังสือตั้งตัวแทนเป็นลายลักษณ์อักษรที่มีการรับรองโดยสถานทูตหรือสถานกงสุล
                - กิจการร่วมค้า  ต้องมีเอกสารดำเนินกิจการร่วมค้า
                - นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ หากต้องการขอจดทะเบียนภาษีมุลค่าเพิ่มชั่วคราว ต้องมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจ และสัญญา หรือโครงการที่แสดงถึงคู่สัญญา มูลค่าของสัญญา ระยะเวลาของสัญญาหรือโครงการที่เริ่มต้นและสิ้นสุด
        2. สถานประกอบการ  การใช้สถานที่อยู่อาศัยของตนเองหรือของบุคคลอื่น เป็นสถานประกอบการ หรือใช้สถานประกอบการของบุคคลอื่นเป็นสถานประกอบการ หรืออาคารชุด แบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ
            2.1 เป็นการให้ใช้โดยไม่มีค่าตอบแทน ต้องมี
                  - หนังสือยินยอมให้ใช้เป็นที่ตั้งสถานประกอบการ และเอกสารที่เกี่ยวข้องว่าผู้ยินยอมเป็นเจ้าของสถานประกอบการนั้นจริง (สำเนาทะเบียนบ้านของสถานประกอบการนั้น หรือเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง + สำเนาบัตรประชาชนผู้เป็นเจ้าของสถานประกอบการ)
                  - หากใช้อาคารชุด ตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด (คอนโดมิเนียม) เป็นสถานประกอบการ ต้องเตรียม หนังสือรับรองของผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดที่ระบุว่าสถานที่ดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ประกอบการค้าของอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด เพิ่มมาด้วย
           2.2 เป็นการให้ใช้โดยการให้เช่า ต้องมี
                 - สัญญาเช่า ที่ระบุชื่อที่อยู่ของเจ้าของสถานประกอบการที่ให้เช่า
                 - สำเนาทะเบียนบ้านของสถานประกอบการ หรือเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง
* กรณีสำเนาทะเบียนบ้านที่ใช้เป็นที่ตั้งสถานประกอบการ ไม่ได้ระบุว่าใครเป็นเจ้าบ้าน ต้องแนบเอกสารที่แสดงว่าใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิในที่ตั้งที่ใช้เป็นสถานประกอบการนั้น เช่น สำเนาโฉนดที่ดิน
       3. ต้องปิดป้ายแสดงชื่อผู้ประกอบการไว้ในที่เปิดเผย มองเห็นได้ง่าย ณ สถานประกอบการ
       4. แผนที่แสดงที่ตั้งของสถานประกอบการ
       5. หนังสือมอบอำนาจ กรณีที่ต้องนำส่งเอกสารหรือไปพบเจ้าหน้าที่สรรพากรแล้วไม่สามารถไปได้ด้วยตนเอง ต้องมีหนังสือมอบอำนาจ ติดอากรแสตมป์ (หากมอบอำนาจให้กระทำการแล้วเสร็จสิ้นภายในครั้งเดียวติดอากรแสตมป์ 10 บาท หากต้องกระทำการหลายๆครั้งและใช้หนังสือมอบอำนาจฉบับเดียวให้ติดอากรแสตมป์ 30 บาท) ระบุอำนาจในการให้กระทำการแทนให้ชัดเจน เช่น ส่งมอบเอกสารและให้ถ้อยคำเกี่ยวกับการขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของ บจ.AAA เป็นต้น พร้อมทั้งแนบสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจด้วย

การไม่อนุมัติให้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมุลค่าเพิ่ม

       การที่เรายื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมุลค่าเพิ่มไปแล้วกรมสรรพากรไม่อนุมัติ อาจเกิดจาก
       1. แสดงข้อมูลในคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเท็จ
       2. มีข้อเท็จจริงที่แสดงว่าเป็นตัวแทนเชิดของเจ้าของกิจการที่แท้จริง
       3. ไม่มีสถานประกอบการจริงตามที่ยื่นคำขอ
       4. ใช้สำนักงานกฎหมาย หรือสำนักงานบัญชีของบุคคลอื่นเป็นสถานประกอบการ เว้นแต่กรณีที่เป็นตัวแทนของผู้ประกอบการที่อยู่ต่างประเทศ
       5. มีข้อเท็จจริงว่าไม่ได้ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่ใช่ผู้ประกอบการซึ่งขายสินค้าหรือให้บริการที่แท้จริง
       6. เคยเป็นผู้ประกอบจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ถูกอธิบดีกรมสรรพากรสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไปเนื่องจากเหตุผลตามข้อ 1 - 5
       7. ไม่แสดงหรือนำส่งเอกสารหลักฐานให้ครบถ้วนตามที่เจ้าพนักงานสรรพากรร้องขอ
       หากเกิดปัญหาไม่ได้รับการอนุมัติให้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ว่าสาเหตุใดก็ตาม ต้องรีบดำเนินการให้เจ้าหน้าที่สรรพากรลบคำขอการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านทางอินเทอร์เน็ตของเราออกจากระบบให้เร็วที่สุดเพื่อที่เราจะได้สามารถไปยื่นแบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาที่เรามีสถานประกอบการอยู่ได้ทันท่วงที
       แต่หากว่าเราบันทึกข้อมูลถุกต้องเรียบร้อย และเตรียมเอกสารให้เจ้าหน้าที่สรรพากรถูกต้องครบถ้วนแล้ว ไม่เกิน 15 วันจากวันที่เรายื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านทางอินเทอร์เน็ต เราก็จะได้รับอนุมัติให้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม การติดต่องานหรือธุรกิจของเราก็จะไม่มีปัญหา  เหมือนคำที่ว่าการเตรียมตัวดี มีชัยไปกว่าครึ่ง
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล
1. www.rd.go.th
2. ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 159)
3.ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 214)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น