สิทธิประโยชน์ทางภาษีของ Angel Investor กับการลงทุนใน Startup - TaxTeller

วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

สิทธิประโยชน์ทางภาษีของ Angel Investor กับการลงทุนใน Startup

สิทธิประโยชน์ทางภาษีของ Angel Investor กับการลงทุนใน Startup

        การเริ่มต้นทำธุรกิจใหม่ๆ สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญในลำดับต้นๆเลย คือเงินทุน โดยส่วนมากเงินทุนจะมาจากเงินของตนเอง ครอบครัว เพื่อน หรือคนใกล้ชิด ในบางครั้งหรือบางคนที่อยากเริ่มทำธุรกิจ แต่ไม่มีเงินทุนเพียงพอ Angel Investor จะเข้ามามีบทบาทในตอนนี้นี่เอง  ปัจจุบันรัฐบาลได้มีการส่งเสริมธุรกิจ Startup ที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย จึงเป็นโอกาสดีของเหล่า Angel Investor ทั้งหลาย ที่จะเข้าไปลงทุนในธุรกิจ Startup ที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมาย แล้วยังสามารถนำเงินที่ลงทุนไปนั้นมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 100,000.-บาทต่อปี

หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของ Startup

      หาก Angel Investor ต้องการที่จะเข้าไปลงทุนใน Startup แล้วได้ลดหย่อนภาษี เหล่า Startup นั้น ต้องมีคุณสมบัติดังนี้
          1. เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย และจดทะเบียนจัดตั้งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 - 31 ธันวาคม 2562
          2. ในปีที่มีการลงทุน บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ต้องมี
              -  ทุนที่ชำระแล้วในรอบสุดท้ายของรอบบัญชีไม่เกิน 5,000,000.-บาท
              -  มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30,000,000.- บาท
          3. เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ใช้เทคโนโลยีหลักเป็นฐานในกระบวนการผลิตและการให้บริการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และได้รับการรับรองจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมายดังต่อไปนี้
              -  อุตสาหกรรมอาหารและการเกษตร
              -  อุตสาหกรรมเพื่อประหยัดพลังงาน ผลิตพลังงานทดแทน และพลังงานสะอาด
              -  อุตสาหกรรมฐานเทคโนโลยีชีวภาพ
              -  อุตสาหกรรมการแพทย์และสาธารณสุข
              -  อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมบริการ และอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์
              -  อุตสาหกรรมวัสดุก้าวหน้า
              -  อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องประดับ
              -  อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน
              -  อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ และบริการสารสนเทศ
              -  อุตสาหกรรมฐานการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม หรืออุตสาหกรรมใหม่
        4. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องมีรายได้หลักจากอุตสาหกรรมเป้าหมายหรือรายได้เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ไม่น้อยกว่า 80% ของรายได้ทั้งหมด
            4.1 รายได้หลักจากอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ รายได้จากการขายสินค้าและบริการ
            4.2 รายได้เกี่ยวเนื่องจากอุตสาหกรรมเป้าหมาย คือ
                  - รายได้จากการจำหน่ายผลพลอยได้และสินค้ากึ่งสำเร็จรูปในกิจการ
                  - รายได้จากการจำหน่ายเครื่องจักร ส่วนประกอบ อุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องใช้ และทรัพย์สิน ที่ใช้ในกิจการ ที่หมดสภาพหรือไม่เหมาะสมที่จะใช้งานต่อไป

สิทธิการหักค่าลดหย่อน

        1. ให้สิทธิหักค่าลดหย่อนเฉพาะบุคคลธรรมดา (ไม่รวมห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล และกองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง)
        2. เป็นเงินที่จ่ายเพื่อลงหุ้นหรือลงทุนในการจัดตั้งหรือเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล Startup ที่ประกอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย
        3. ลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 100,000.-บาท
        4. เป็นการลงหุ้นหรือลงทุนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 - 31 ธันวาคม 2562
        5. ต้องถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่า 2 ปี นับแต่วันที่จ่ายเงินเพื่อลงหุ้นหรือลงทุน  เว้นแต่ทุพพลภาพหรือตาย

หลักฐานในการใช้สิทธิลดหย่อน

        1. กรณีถือหุ้นในบริษัทจำกัด ต้องมีเอกสารสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ขอมาจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งมีชื่อของผู้ลงหุ้นหรือลงทุน ปรากฎอยู่ในทะเบียนผู้ถือหุ้น ณ วันที่ลงหุ้นหรือลงทุน
        2. หนังสือรับรองการจ่ายเงินเพื่อลงหุ้นหรือลงทุนในการจัดตั้งหรือเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ตัวอย่างหนังสือรับรองการจ่ายเงินฯ

กรณีผิดเงื่อนไข

        1. กรณีผู้ลงหุ้นหรือลงทุน ถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลไม่ต่อเนื่องจนครบ 2 ปี นับแต่วันที่จ่ายเงินเพื่อลงหุ้นหรือลงทุน จะหมดสิทธิได้รับการลดหย่อน และต้องยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมของปีภาษีที่ใช้สิทธิลดหย่อนไป เพื่อชำระภาษีเพิ่มเติมพร้อมเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน
        2. กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดข้างต้น ในรอบระยะเวลาบัญชีถัดจากที่ผู้ลงหุ้นหรือลงทุนได้ลงหุ้นหรือลงทุนไป ส่งผลให้ผู้ลงหุ้นหรือผู้ลงทุนหมดสิทธิในการได้รับการลดหย่อนภาษี ผู้ลงหุ้นหรือลงทุนต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมของปีภาษีที่ใช้สิทธิลดหย่อน  ภายในวันที่ 31 มีนาคม ของปีที่ถัดจากกำหนดเวลาการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อชำระภาษีเพิ่มเติม โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม
       เช่น  นาย ก ลงทุนในบริษัท ง เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2561 จำนวน 100,000.-บาท  นาย ก ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ใช้สิทธิลดหย่อนการลงทุนใน Startup ในปีภาษี 2561 จำนวน 100,000.-บาท ต่อมา บริษัท ง มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ในรอบระยะเวลาบัญชี 1 มกราคม 2562 - 31 ธันวาคม 2562 (กำหนดเวลาการยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 ของบริษัท คือภายใน 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ต้องยื่นภายในพฤษภาคม 2563) ดังนั้น นาย ก ต้องไปยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 เพิ่มเติมของปีภาษี 2561 เพื่อชำระภาษีภายในวันที่ 31 มีนาคม 2564 โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม หากยื่นเกินวันที่ 31 มีนาคม 2564 ต้องรับผิดเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน นั่นเอง

        Angel Investor เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ธุรกิจใหม่ๆเกิดขึ้นได้ และประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน คำแนะนำ หรือความช่วยเหลือจากประสบการณ์และเครือข่าย ถือได้ว่าเป็นเทวดามาโปรดของเหล่า Startup เลยก็ว่าได้  การช่วยเหลือและส่งเสริมเหล่านั้น Angel Investor อาจจะได้รับผลตอบแทนกลับมาในรูปแบบต่างๆ ช่วยพัฒนาประเทศชาติให้มีความก้าวหน้าในนวัตกรรมใหม่ๆ  และที่สำคัญยังสามารถนำไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้อีกทางหนึ่ง
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ้างอิง :
1. กฎกระทรวง ฉบับที่ 337 (พ.ศ.2561)
2. ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 330) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเพื่อยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้ได้จ่ายเพื่อลงหุ้นหรือลงทุนในการจัดตั้งหรือเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น