เงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ คืออะไร ??? - TaxTeller

วันพุธที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

เงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ คืออะไร ???



เงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ คืออะไร ???

        เมื่อถึงเวลาที่จะต้องเตรียมตัวเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ก็ต้องมีการเตรียมตัวที่จะต้องหาซื้อ ประกันชีวิตแบบบำนาญ RMF LTF เพิ่ม เพื่อนำไปใช้ลดหย่อนภาษี แต่พอเข้าไปศึกษาข้อมูลของกรมสรรพากรแล้วจะพบคำว่า ให้ยกเว้นเงินได้ตามที่จ่าย แต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น แล้วคำว่า เงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ ที่จะนำมาใช้เป็นฐานในการคำนวณว่าเราจะสามารถใช้สิทธิยกเว้นเงินได้(เสมือนค่าลดหย่อน) ได้เท่าไหร่ แล้วดูจากไหนล่ะ

เงินได้พึงประเมินที่มีสิทธินำไปใช้เป็นฐานในการคำนวณ

        เงินได้พึงประเมินที่ได้รับที่ต้องเสียภาษีเงินได้ ที่นำมาเป็นฐานในการคำนาณเพื่อซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญ หน่วยลงทุน RMF และหน่วยลงทุน LTF เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีนั้น แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
        1. เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1)-(8) แห่งประมวลรัษฎากร ที่นำเงินได้พึงประเมินเหล่านั้นไปรวมคำนวณภาษีในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ ได้แก่
            (1) เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง โบนัส เบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่นายจ้างให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่นายจ้างจ่ายชำระหนี้ใดๆ ซึ่งลูกจ้างมีหน้าที่ต้องชำระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน
            (2) เงินได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้ ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด เงินอุดหนุนในงานที่ทำ เบี้ยประชุม บำเหน็จ โบนัส เงินค่าเช่าบ้าน เงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่ผู้จ่ายเงินได้ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินที่ผู้จ่ายเงินได้จ่ายชำระหนี้ใดๆ ซึ่งผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องชำระ และเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใดๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำ หรือจากการรับทำงานให้นั้นไม่ว่าหน้าที่ หรือตำแหน่งงาน หรืองานที่รับทำให้นั้นจะเป็นการประจำหรือชั่วคราว
            (3) ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น เงินปี หรือเงินได้มีลักษณะเป็นเงินรายปีอันได้มาจากพินัยกรรม นิติกรรมอย่างอื่น หรือคำพิพากษาของศาล
            (4) เงินได้ที่เป็น
                    (ก) ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยหุ้นกู้ ดอกเบี้ยตั๋วเงิน ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมไม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่ ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเฉพาะส่วนที่เหลือจากถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายดังกล่าว หรือผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออกและจำหน่ายครั้งแรกในราคาต่ำกว่าราคาไถ่ถอน รวมทั้งเงินได้ที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับดอกเบี้ย ผลประโยชน์หรือค่าตอบแทนอื่นๆ ที่ได้จากการให้กู้ยืม หรือจากสิทธิเรียกร้องในหนี้ทุกชนิด ไม่ว่าจะมีหลักประกันหรือไม่ก็ตาม            
                    (ข) เงินปันผล เงินส่วนแบ่งของกำไรหรือ ประโยชน์อื่นใดที่ได้จากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล กองทุนรวม หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทย จัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรมหรืออุตสาหกรรม เงินปันผล หรือเงินส่วนแบ่งของกำไรที่อยู่ในบังคับต้องถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียมเฉพาะส่วนที่เหลือจากถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่ายตามกฎหมายดังกล่าว
                    (ค) เงินโบนัสที่จ่ายแก่ผู้ถือหุ้น หรือผู้เป็นหุ้นส่วนในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
                    (ง) เงินลดทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเฉพาะส่วนที่จ่ายไม่เกินกว่ากำไรและเงินที่กันไว้รวมกัน
                    (จ) เงินเพิ่มทุนของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งตั้งจากกำไรที่ได้มาหรือเงินที่กันไว้รวมกัน
                    (ฉ) ผลประโยชน์ที่ได้จากการที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลควบเข้ากัน หรือรับช่วงกัน หรือเลิกกัน ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน
                   (ช) ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนการเป็นหุ้นส่วนหรือ โอนหุ้น หุ้นกู้ พันธบัตร หรือตั๋วเงิน หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน  
                    (ซ) เงินส่วนแบ่งของกำไร หรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือ ครอบครองโทเคนดิจิทัล
                    (ฌ) ผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัล ทั้งนี้ เฉพาะซึ่งตีราคา เป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน
           (5) เงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจาก
                    (ก) การให้เช่าทรัพย์สิน
                    (ข) การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน
                    (ค) การผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อนซึ่งผู้ขายได้รับคืนทรัพย์สินที่ซื้อขายนั้น โดยไม่ต้องคืนเงินหรือประโยชน์ที่ได้รับไว้แล้ว
           (6) เงินได้จากวิชาชีพอิสระ คือ วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี ประณีตศิลปกรรม หรือวิชาชีพอิสระอื่น ซึ่งจะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดชนิดไว้
           (7) เงินได้จากการรับเหมาที่ผู้รับเหมาต้องลงทุนด้วยการจัดหาสัมภาระในส่วนสำคัญนอกจากเครื่องมือ
           (8) เงินได้จากการธุรกิจ การพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรือการอื่นนอกจากที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (7) แล้ว
        2. เงินได้พึงประเมินประเภทที่มีสิทธิเลือกเสียภาษี โดยใช้สิทธิเลือกเสียภาษีตามที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ โดยไม่นำไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่นในการยื่นแบบแสดงรายการ ได้แก่
           (1) ดอกเบี้ยพันธบัตร ดอกเบี้ยเงินฝาก (ตามมาตรา 40(4)(ก)และ(ช) แห่งประมวลรัษฎากร) ที่ใช้สิทธิเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 15 ตามที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้ โดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นในแบบแสดงรายการภาษี
           (2) เงินปันผล (ตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร) ที่ใช้สิทธิเลือกเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10 ตามที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้ โดยไม่นำไปรวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่นในแบบแสดงรายการภาษี
           (3) เงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกงาน ที่ใช้สิทธิเลือกเสียภาษีแยกต่างหากจากเงินได้อื่น
           (4) เงินส่วนแบ่งกำไรจากกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ที่ยอมให้หัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 10 ของเงินได้ โดยไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้คืน หรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้         
          โดยในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  สำหรับผู้มีเงินได้ที่ประสงค์จะใช้สิทธิลดหย่อน RMF  LTF หรือประกันชีวิตแบบบำนาญ ต้องกรอกรายการเงินได้พึงประเมินที่ได้ใช้สิทธิเลือกเสียภาษีโดยไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีกับเงินได้อื่น เพื่อให้สะดวกต่อการใช้เป็นฐานในการคำนวณ

       
         เงินได้พึงประเมินทั้ง 2 ประเภทนี้มีสิทธินำไปใช้เป็นฐานในการคำนวณเพื่อซื้อประกันชีวิตแบบบำนาญ หน่วยลงทุน RMF และหน่วยลงทุน LTF เพื่อใช้เป็นสิทธิประโยชน์ทางภาษี

เงินได้พึงประเมินที่ไม่มีสิทธินำไปใช้เป็นฐานในการคำนวณ

        เงินได้ที่ไม่มีสิทธินำไปใช้เป็นฐานในการคำนวณ จะเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร และ ตามข้อ 2 ของกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) (ไม่รวมเงินได้ยกเว้นที่ให้นำไปหักจากเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายที่วิธีการหักเสมือนเป็นค่าลดหย่อน) ในที่นี้จะยกตัวอย่างมาเฉพาะเงินได้ที่เราพบเห็นกันบ่อยๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น
        1. เบี้ยประชุมกรรมาธิการหรือกรรมการ หรือค่าสอน ค่าสอบที่ทางราชการหรือสถานศึกษาของทางราชการจ่ายให้
        2. ดอกเบี้ยดังต่อไปนี้
            (1) ดอกเบี้ยสลากออมสิน หรือดอกเบี้ยเงินฝากออมสินของรัฐบาลเฉพาะประเภทฝากเผื่อเรียก
            (2) ดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ที่ได้รับจากสหกรณ์
            (3) ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักรที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์ เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวในจำนวนรวมกันทั้งสิ้นไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทตลอดปีภาษีนั้น
        3. เงินได้ที่ได้รับจากการรับมรดก
        4. รางวัลสลากกินแบ่งหรือสลากออมสินของรัฐบาล
        5. บำนาญพิเศษ บำเหน็จพิเศษ บำนาญตกทอด หรือบำเหน็จตกทอด
        6. ค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิด เงินที่ได้จากการประกันภัย หรือการฌาปนกิจสงเคราะห์
        7. ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักรที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์ เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวในจำนวนรวมกันทั้ง-สิ้นไม่เกินสองหมื่นบาทตลอดปีภาษีนั้น
        8. ค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและค่าชดเชยที่พนักงานได้รับตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ แต่ไม่รวมถึงค่าชดเชยที่ลูกจ้างหรือพนักงานได้รับเพราะเหตุเกษียณอายุหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง ทั้งนี้เฉพาะค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายแต่ไม่เกินสามแสนบาท

       จะมีข้อยกเว้นในเรื่องเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ แล้วไม่มีผลในการนำไปใช้สิทธิเป็นฐานในการคำนวณ 2 กรณี คือ
       1. เงินได้ที่ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยและมีอายุไม่ต่ำกว่าหกสิบห้าปีบริบูรณ์ในปีภาษีได้รับ เฉพาะส่วนที่ไม่เกินหนึ่งแสนเก้าหมื่นบาทในปีภาษีนั้น 
        2. เงินได้ที่ผู้มีเงินได้เป็นคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยและมีอายุไม่เกินหกสิบห้าปีบริบูรณ์ในปีภาษีได้รับเฉพาะส่วนที่ไม่เกินหนึ่งแสนเก้าหมื่นบาท สำหรับปีภาษีนั้น
        เช่น นาย ก อายุ 70 ปี มีเงินได้เงินเดือนในปี 2561 จำนวน 500,000.-บาท นาย ก นำเงินได้จากเงินเดือน 500,000 หักเงินได้ยกเว้นกรณีอายุเกิน 65 ปี จำนวน 190,000 บาท คงเหลือเงินได้ที่นำไปคำนวณภาษีในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ จำนวน 310,000 บาท  หาก นาย ก ต้องการซื้อ LTF เพิ่มเติมในปี 2561 ฐานในการคำนวณสิทธิในการซื้อ LTF  คือ 500,000 บาท (ไม่ใช่ 310,000 บาท)

ตัวอย่างเงินได้พึงประเมินที่นำไปใช้เป็นฐานในการคำนวณ

        ทีนี้เราก็จะพอรู้กันบ้างแล้วว่าเงินได้พึงประเมินชนิดใดที่สามารถนำไปใช้เป็นฐานในการคำนวณสิทธิประโยชน์ทางภาษี หากเราต้องการซื้อเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ หรือซื้อหน่วยลงทุน LTF หรือซื้อหน่วยลงทุน LTF ว่าเราจะซื้อได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อเราจะได้วางแผนในการเสียภาษีได้ง่ายขึ้น
        

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ที่มาของข้อมูล
1. www.rd.go.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น