ยกเว้น/ไม่ยกเว้น ดอกเบี้ยเงินฝาก 20,000 บาท - TaxTeller

วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ยกเว้น/ไม่ยกเว้น ดอกเบี้ยเงินฝาก 20,000 บาท

ยกเว้น/ไม่ยกเว้น ดอกเบี้ยเงินฝาก 20,000 บาท

        ตามกระแสข่าวที่ว่ากรมสรรพากรไม่ยกเว้นเงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝาก ประเภทออมทรัพย์ให้แก่ผู้มีเงินได้นั้น ข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร ลองมาดูกัน
        ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 346) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับดอกเบี้ย เงินฝากที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์และผลตอบแทนเงินฝาก ตามหลักการของศาสนาอิสลามที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามตามหลักการวะดีอะฮ์ นั้น สรุปได้คร่าวๆ ดังนี้

คำจำกัดความ

        “ดอกเบี้ย”   หมายความว่า ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในประเทศ ที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม ประเภทออมทรัพย์ 
        “ผลตอบแทนเงินฝาก”  หมายความว่า ผลตอบแทนเงินฝากธนาคารในประเทศ ที่ได้รับ จากการฝากเงินตามหลักการของศาสนาอิสลามที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามตามหลักการวะดีอะฮ์

หลักเกณฑ์และเงื่อนไข

        ดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝากที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสีย ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้
        1. ผู้มีเงินได้ที่มีการเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารในประเทศ แล้วมีดอกเบี้ยและหรือผลตอบแทนเงินฝากทุกบัญชีรวมกัน มีจำนวนรวมกันทั้งสิ้นไม่เกิน 20,000 บาท ตลอดปีภาษี
        2. ยินยอมให้ธนาคารนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากให้กับกรมสรรพากร (โดยไม่ได้ไปแจ้งกับธนาคารไม่ให้นำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร)
        3. เมื่อกรมสรรพากรได้รับข้อมูลดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากจากธนาคารแล้ว กรมสรรพากรจะประมวลผลดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากรวมของผู้มีเงินได้แต่ละคน แล้วส่งข้อมูลกลับให้ธนาคาร ดำเนินการดังนี้
            -  หากผู้มีเงินได้ มีดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากรวมทุกบัญชีแล้วไม่เกิน 20,000 บาท ต่อปี ธนาคารไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15 % นำส่งกรมสรรพากร  และผู้มีเงินได้ก็ไม่ต้องนำเงินได้ดอกเบี้ยส่วนนี้ไปรวมคำนวณภาษีปลายปี (ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา)
            -  แต่หากผู้มีเงินได้ มีดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากรวมทุกบัญชีแล้ว  เกิน 20,000 บาท ต่อปี ธนาคารต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15 % นำส่งกรมสรรพากร  ผู้มีเงินได้มีสิทธิเลือกเสียภาษีโดยไม่ต้องนำเงินได้ส่วนนี้ไปรวมคำนวณภาษีปลายปีก็ได้ หากไม่ประสงค์ที่จะขอคืนเงินภาษีที่ถูกธนาคารหักไว้

กรณีไม่ประสงค์ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

        กรณีที่ผู้มีเงินได้ไม่ประสงค์จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้แจ้ง ธนาคารซึ่งเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากเพื่อไม่ให้นำส่งข้อมูลเกี่ยวกับดอกเบี้ยหรือ ผลตอบแทนเงินฝาก ให้กับกรมสรรพากร ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป
        ผลของการไม่ประสงค์ให้ธนาคารแจ้งข้อมูลดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากให้กรมสรรพากรนั้น ธนาคารจะหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ของดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากของผู้มีเงินได้ทุกครั้งที่มีการจ่ายดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝาก ไม่ว่าจะมีจำนวนเงินเท่าไหร่ก็ตาม
        ดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากที่ผู้มีเงินได้ถูกธนาคารหัก ณ ที่จ่ายไว้ 15% นั้น ผู้มีเงินได้มีสิทธิที่จะเลือกเสียภาษีตามที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้ โดยไม่ต้องนำไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่นตอนปลายปีก็ได้ หรือหากต้องการเงินที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้คืน ก็ให้นำไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่นตอนปลายปีเพื่อขอคืนภาษี
      สรุปง่ายๆ กันเลยก็คือ หากเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคารไม่ได้ไปแจ้งธนาคารไม่ให้นำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร  กรมสรรพากรจะถือว่าท่านยินยอมให้ข้อมูลแก่กรมสรรพากรกันโดยอัตโนมัติ

ตัวอย่าง

       1. นาย ก ฝากเงินประเภทออมทรัพย์ไว้กับธนาคาร 3 แห่ง และได้รับดอกเบี้ยจากธนาคาร โดยนาย ก  ให้ธนาคารนำส่งข้อมูลการจ่ายดอกเบี้ยให้แก่กรมสรรพากร



 
        2. นาย ก ฝากเงินประเภทออมทรัพย์ไว้กับธนาคาร 3 แห่ง และได้รับดอกเบี้ยจากธนาคาร โดยนาย ก  ได้ไปแจ้งกับธนาคารไม่ให้นำส่งข้อมูลการจ่ายดอกเบี้ยให้แก่กรมสรรพากร

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
อ้างอิง : ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 346) ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2562

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น