โค้งสุดท้ายลดหย่อนท่องเที่ยวเมืองรอง - TaxTeller

วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2561

โค้งสุดท้ายลดหย่อนท่องเที่ยวเมืองรอง


โค้งสุดท้ายลดหย่อนท่องเที่ยวเมืองรอง

        ช่วงนี้ ททท. จัดกิจกรรมการท่องเที่ยว ส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยจัดทำเป็นโครงการ "ไทยเที่ยวไทย ไทยยั่งยืน"  เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กระจายรายได้ไปสู่จังหวัดเมืองท่องเที่ยวรอง เชิญชวนนักท่องเที่ยวให้มีโอกาสสัมผัสชุมชน วัฒนธรรมท้องถิ่น อาหารการกิน ผลิตภัณฑ์ชุมชน ในจังหวัดอื่นๆกันบ้าง นอกเหนือไปจากจังหวัดยอดฮิตที่เอ่ยชื่อออกมาใครๆก็รู้จัก  แถมยังสามารถนำค่าใช้บริการ ค่าที่พัก มาใช้ลดหย่อนภาษีได้อีก
       แล้วหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการยกเว้นเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าบริการหรือที่พักสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวรอง หรือเขตพื้นที่ท่องเที่ยวมีรายละเอียดอย่างไรบ้าง เรามาดูกัน เริ่มด้วยมารู้จักกันก่อนว่าจังหวัดท่องเที่ยวรองคือจังหวัดอะไรบ้าง และเขตพื้นที่ท่องเที่ยวคืออำเภอไหนบ้าง
จังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง

เขตพื้นที่ท่องเที่ยว



               แล้วเราต้องจ่ายค่าบริการหรือค่าที่พักให้กับใครบ้างถึงจะมีสิทธินำมาใช้เป็นค่าลดหย่อนได้
1. ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว  ต้องเป็นผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยวที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศน์  ท่านสามารถเข้าไปตรวจสอบรายชื่อได้ที่  ตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวและมักคุเทศก์ ที่ผู้มีเงินได้มีสิทธิขอหักลดหย่อนค่าเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ กรมสรรพากร
2. ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม  ต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม ท่านสามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่  ตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ที่ผู้มีเงินได้มีสิทธิขอหักลดหย่อนค่าเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ กรมสรรพากร
3. ผู้ประกอบกิจการให้บริการที่พักโฮมสเตย์  ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโฮมสเตย์ไทยจากกรมท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา   โดยโฮมสเตย์ไทยในที่นี้  หมายความถึง สถานที่พักชั่วคราวซึ่งเจ้าของบ้านนำพื้นที่ใช้สอยภายในบ้านมาดัดแปลงเป็นห้องพัก และจัดบริการสิ่งอำนวยความสะดวกตามสมควร  โดยเรียกค่าตอบแทนจากผู้พักอันมีลักษณะเป็นการประกอบกิจการเพื่อหารายได้เสริม  และมีจำนวนไม่เกิน 4 ห้อง มีผู้พักรวมไม่เกิน 20 คน และได้ขึ้นทะเบียนกับกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
    ท่านสามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่ โฮมสเตย์ไทย  
4. สถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม  คือ สถานที่พักที่มีจำนวนห้องพักในอาคารเดียวกันหรือหลายอาคารรวมกันไม่เกินสี่ห้องและมีจำนวนผู้พักรวมกันทั้งหมดไม่เกินยี่สิบคน ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการที่พักชั่วคราวสาหรับคนเดินทางหรือบุคคลอื่นใดโดยมีค่าตอบแทน อันมีลักษณะเป็น การประกอบกิจการเพื่อหารายได้เสริม และได้แจ้งให้นายทะเบียนทราบตามแบบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยกำหนด ตามข้อ 1 แห่งกฎกระทรวง กำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2551
    ท่านสามารถตรวจสอบรายชื่อได้ที่ สถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม

หลักฐานที่ใช้ในการลดหย่อน

1. หลักฐานการรับเงิน อาจจะเป็นใบเสร็จรับเงินหรือใบกำกับภาษีก็ได้
2. หลักฐานการรับเงินต้องระบุชื่อผู้มีเงินได้ จำนวนเงิน วัน เดือน ปี ที่จ่ายเงิน
3. หากเป็นการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวรองร่วมกับท้องที่ในเขตจังหวัดอื่น(ที่ไม่ใช่จังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง) ซึ่งเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา     ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต้องระบุลำดับที่ได้รับการรับรองในหลักฐานการรับเงินด้วย
4. หลักฐานการรับชาระค่าที่พักแก่ผู้ประกอบกิจการสถานที่พัก ที่ไม่เป็นโรงแรม ต้องระบุเลขที่รับแจ้งและจังหวัด ตามหนังสือรับแจ้งสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม ที่ออกโดยนายทะเบียนกระทรวงมหาดไทยด้วย

เงื่อนไขของการท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรองและเขตพื้นที่ท่องเที่ยว

          1. ต้องเป็นการจ่ายค่าบริการ (แพคเกจทัวร์)  ให้แก่ผู้ประกอบการนำเที่ยว   สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวใน
                    -  จังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง
                    -  เขตพื้นที่ท่องเที่ยว
                    -  จังหวัดท่องเที่ยวรอง  ร่วมกับ   ท้องที่ในเขตจังหวัดอื่น ซึ่งเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงการท่อง เที่ยวและกีฬา
                    -  เขตพื้นที่ท่องเที่ยว  ร่วมกับ  ท้องที่ในเขตจังหวัดอื่น ซึ่งเป็นเส้นทางท่องเที่ยวที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงการท่อง เที่ยวและกีฬา
          3. ต้องเป็นการจ่ายค่าที่พักโรงแรม ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม  ใน
                     -  จังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง
                     -  เขตพื้นที่ท่องเที่ยว
          4. หากพักโฮมสเตย์ต้องเป็นการจ่ายค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย ใน
                     -  จังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง
                     -  เขตพื้นที่ท่องเที่ยว
          5. จ่ายเป็นค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม  (update ใหม่ ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 340)
                     -  จังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง
                     -  เขตพื้นที่ท่องเที่ยว
          6. เป็นค่าบริการ (แพคเกจทัวร์) หรือค่าที่พัก ที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึง 31 ธันวาคม 2561
          7. ยกเว้นภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่รวมกันทั้งหมดแล้วไม่เกิน 15,000.- บาท โดยให้นำไปคำนวณหักจากเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่าย  เสมือนค่าลดหย่อนนั่นเอง
          8. การลดหย่อนค่าบริการหรือค่าที่พักนี้  เป็นการลดหย่อนให้เฉพาะบุคคลธรรมดา (ไม่รวมห้างหุ้นส่วนสามัญ  หรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล)

หลักเกณฑ์การหักลดหย่อน

          1. กรณีสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว
              ลดหย่อนให้เฉพาะผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง  แต่ไม่เกิน 15,000.- บาท   นั่นคือ ใบเสร็จจะต้องระบุเป็นชื่อของผู้มีเงินได้  เช่น  สามีเป็นผู้มีเงินได้  ภริยาไม่มีเงินได้ หากจ่ายค่าที่พักและค่าบริการในจังหวัดท่องเที่ยวรองหรือเขตพื้นที่ท่องเที่ยวแล้วออกใบเสร็จรับเงินในนามของสามีผู้มีเงินได้  แบบนี้สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้  ในทางตรงกันข้ามหากออกใบเสร็จรับเงินในนามภริยาผู้ไม่มีเงินได้  แบบนี้ไม่สามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้นั่นเอง
          2. กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้
              กรณีนี้ไม่ว่าสามีภริยาประสงค์จะยื่นแบบรวมกันหรือแยกยื่นแบบ ให้ต่างฝ่ายต่างสามารถนำไปหักเป็นค่าลดหย่อนได้  ง่ายๆก็คือไม่ว่าสามีหรือภริยาจะเป็นผู้จ่ายค่าที่พักและค่าบริการในจังหวัดท่องเที่ยวรองหรือเขตพื้นที่ท่องเที่ยว  ก็สามารถนำไปหักลดหย่อนในส่วนของตนเองตามส่วนที่มีการจ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000.- บาท  เช่น
              2.1  หากยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดารวมกันในนามของสามี   
                     -  สามีสามารถหักลดหย่อนค่าที่พักและค่าบริการในจังหวัดท่องเที่ยวรองหรือเขตพื้นที่ท่องเที่ยว  ได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000.- บาท(ใบเสร็จรับเงินออกในนามสามี) 
                     -  และสามารถนำส่วนที่ภริยาจ่ายค่าที่พักและค่าบริการในจังหวัดท่องเที่ยวรองหรือเขตพื้นที่ท่องเที่ยวมาหักได้อีกตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000.- บาท(ใบเสร็จรับเงินออกในนามภริยา)
              2.2  หากสามีภริยาแยกกันยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา  
                     -  แบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของสามี  สามีก็สามารถหักลดหย่อนค่าที่พักและค่าบริการในจังหวัดท่องเที่ยวรองหรือเขตพื้นที่ท่องเที่ยวที่ตนเองได้จ่ายไปได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000.- บาท(ใบเสร็จรับเงินออกในนามสามี)
                     -  แบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของภริยา  ภริยาก็สามารถหักลดหย่อนค่าที่พักและค่าบริการในจังหวัดท่องเที่ยวรองหรือเขตพื้นที่ท่องเที่ยวที่ตนเองได้จ่ายไป ได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000.- บาท(ใบเสร็จรับเงินออกในนามภริยา)   
          อย่างไรก็ตามการจะได้ลดภาษีในส่วนนี้มากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับอัตราภาษีที่แต่ละคนรับภาระอยู่   เช่นบางคนเสียภาษีอยู่ในอัตราร้อยละ 20 หากจ่ายค่าที่พักไป 15,000.- บาท ก็สามารถลดภาษีที่จะต้องชำระเพิ่มไปได้จำนวน 3,000.- บาท แต่บางคนอาจจะเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10 หากจ่ายค่าที่พักไป 15,000.- บาท เหมือนกัน ก็จะสามารถลดภาษีที่จะต้องชำระเพิ่มได้เพียง 1,500.- บาท นั่นเอง  
         แต่หากเราไม่ได้คิดอะไรมาก  ทุกปีต้องการออกไปผ่อนคลายสมอง พักผ่อนร่างกายและจิตใจ ก็ลองพิจารณาไปท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวรองและเขตพื้นที่ท่องเที่ยวกันดู ถึงจะได้ลดภาษีมากบ้างน้อยบ้างก็คุ้มค่าอยู่ดี  ตอนนี้ก็เหลือเวลาไม่ถึง 3 เดือนแล้วรีบๆกันหน่อยแล้วกัน ศึกษาและวางแผนการท่องเที่ยวกันให้ดี   เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในทุกทุกทาง   
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
  อ้างอิง :
1. ข้อมูลรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม บนเว็บไซค์ www.rd.go.th
2. ข้อมูลรายชื่อโฮมสเตย์ไทย บนเว็บไซค์ของกรมการท่องเที่ยว
3. กฎกระทรวงฉบับที่ 335 (พ.ศ.2561) 
4. ประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 322) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าบริการหรือค่าที่พักสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดท่องเที่ยวรองหรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีประกาศกำหนด
5. ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่ท่องเที่ยวสำหรับการจัดอบรมสัมมนา และการเดินทางท่องเที่ยวและที่พักเพิ่มเติมจากจังหวัดท่องเที่ยวรอง ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2561
6. กฎกระทรวงฉบับที่ 340 (พ.ศ.2561)
                          


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น