การหักลดหย่อนบุตร - TaxTeller

วันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2561

การหักลดหย่อนบุตร

การหักลดหย่อนบุตร

        ค่าลดหย่อนที่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้อีกอย่างคือ บุตร  แต่ต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้  หรือบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้  รวมถึงบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้ด้วย  แล้วความหมายของบุตรแต่ละประเภทที่สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้นั้นเป็นอย่างไร เราลองมาดูกัน

ประเภทของบุตร

        1. บุตรชอบด้วยกฎหมาย
            บุตรชอบด้วยกฎหมาย  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  หมายถึง  บุตรที่เกิดแต่บิดามารดาซึ่งได้สมรสกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย  ดังนั้นบุตรที่เกิดจากสามีภริยาที่จดทะเบียนสมรสกันก็เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของทั้งสามีและภริยานั่นเอง
        2. บุตรนอกสมรส
            บุตรนอกสมรส คือ บุตรที่เกิดจากชายและหญิงที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน  โดยกฎหมายกำหนดให้
            2.1  ฝ่ายหญิง  กฎหมายกำหนดให้บุตรที่เกิดจากหญิงที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับฝ่ายชาย  ให้ถือเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายหญิง  ตั้งแต่เกิด  ดังนั้นฝ่ายหญิงจึงมีสิทธิหักลดหย่อนสำหรับบุตรได้ตั้งแต่ปีภาษีที่บุตรเกิด
            2.2  ฝ่ายชาย   บุตรที่เกิดจากการไม่จดทะเบียนสมรส  ไม่ถือเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายชาย  จึงไม่มีสิทธินำบุตรดังกล่าวไปหักลดหย่อนได้  ยกเว้นต้องทำให้บุตรดังกล่าวเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย  ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้
                   -   ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงได้จดทะเบียนสมรสกันภายหลัง
                   -   ฝ่ายชายได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร
                   -   ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร
                   หากฝ่ายชายได้กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้น  บุตรดังกล่าวจะถือเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายชาย  โดยสามารถเริ่มใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตั้งแต่ปีที่บุตรเกิดเป็นต้นไป  แต่การใช้สิทธิดังกล่าวต้องไม่เป็นเหตุเสื่อมสิทธิของกรมสรรพากร ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ได้เรียกเก็บภาษีหรืออนุมัติหรือไม่อนุมัติให้คืนภาษีไปแล้ว
                  เช่น  นาย ก  ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ปีภาษี 2560 ใช้สิทธิลดหย่อนบุตรซึ่งเกิดปี 2559 และขอคืนภาษี เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2561  ในขณะยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 นาย ก ยังไม่ได้จดทะเบียนรับรองบุตร  ต่อมาเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2561 จึงได้ไปจดทะเบียนรับรองบุตร   การหักลดหย่อนบุตรดังกล่าวพิจารณาได้ดังนี้
                          1) หากกรมสรรพากรได้มีการตรวจสอบการขอคืนตาม แบบ ภ.ง.ด.90 ไปแล้วก่อนวันที่ 15 มีนาคม 2561 ซึ่งผลของการขอคืนอาจจะได้คืนลดลงหรือมีภาษีชำระเพิ่มเติม เนื่องจากไม่ให้สิทธิลดหย่อนบุตร  แล้วต่อมานาย ก ไปจดทะเบียนรับรองบุตรภายหลังจากที่กรมสรรพากรได้มีการตรวจสอบไปแล้ว  การรับรองบุตรดังกล่าวจึงไม่เป็นเหตุให้กรมสรรพากรต้องคืนเงินในส่วนของค่าลดหย่อนบุตรได้
                          2) หากกรมสรรพากรยังไม่ได้มีการตรวจสอบใดๆเลย  นาย ก ก็มีสิทธิใช้สิทธิลดหย่อนบุตรดังกล่าวในปีภาษี 2560 ได้
        3. บุตรบุญธรรม
            บุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ตามกฎหมายได้ก็ต่อเมื่อได้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว  การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมจะมีผลเป็นบุตรบุญธรรมของผู้จดทะเบียนเท่านั้น  ถ้าสามีหรือภริยาฝ่ายเดียวเป็นผู้จดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมก็ไม่ถือเป็นเหตุให้กลายเป็นบุตรบุญธรรมของอีกฝ่ายหนึ่งด้วยได้  กล่าวคือ  ให้สิทธิเฉพาะผู้ที่จดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมเท่านั้น

1. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการหักลดหย่อนบุตร

        1. ประเภทของบุตรที่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้
            -  เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้  หรือ
            -  เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ หรือ
            -  เป็นบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้
        2. อายุของบุตร  อายุของบุตรที่สามารถนำมาหักลดหย่อนได้มีดังนี้
            -  หักลดหย่อนได้ในฐานะผู้เยาว์  ผู้เยาว์ คือ บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ  ซึ่งการจะบรรลุนิติภาวะได้เมื่อมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์  หรือทำการสมรส
            -  หากมีอายุเกิน 20 ปีแต่ต้องไม่เกิน 25 ปี  และต้องศึกษาอยู้ในมหาวิทยาลัยหรือขั้นอุดมศึกษา  โดยขั้นอุดมศึกษาเป็นการศึกษาที่แบ่งได้ 3 ระดับคือ
               ระดับแรก  เป็นระดับต่ำกว่าปริญญาตรี ได้แก่ ปวส. และอนุปริญญา
               ระดับที่ 2   คือระดับปริญญาตรี
               ระดับที่ 3   คือระดับที่สูงกว่าปริญญาตรี  คือ ปริญญาโท  ปริญญาเอก
            -  กรณีที่ไม่จำกัดเรื่องอายุ  ที่สามารถนำมาใช้สิทธิหักลดหย่อนบุตรได้  บุตรต้องเป็นผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
        3. บุตรต้องอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้
            โดยปกติหากบิดมารดาไม่ได้หย่าขาดจากกัน  ตามกฎหมายแล้วบิดามารดาเป็นผู้มีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตร จึงสามารถหักลดหย่อนบุตรได้เป็นปกติอยู่แล้ว
            แต่หากบิดามารดาหย่าขาดจากกัน  บุตรอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของฝ่ายใดฝ่ายนั้นก็มีสิทธินำบุตรมาหักลดหย่อนได้  แต่มีบางกรณีที่บันทึกท้ายการหย่าระบุให้บุตรอยู่ในความปกครองของฝ่ายหนึ่ง  และอีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ส่งค่าเลี้ยงดู  กรณีนี้ทั้งสองฝ่ายสามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรได้ทั้งคู่
        4. บุตรต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้วตั้งแต่ 30,000.- บาทขึ้นไป  โดยเงินได้พึงประเมินในที่นี้ไม่นับรวมถึงเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นภาษีตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร  เช่นบุตรอายุ 21 ปี ถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลจำนวน 100,000.- บาท เงินได้จากการถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลดังกล่าวเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร  ดังนั้นบิดามารดายังคงสามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรได้
        5. สามารถหักลดหย่อนบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้  หรือบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ได้คนละ 30,000.-บาท โดยไม่จำกัดจำนวนบุตร
        6.  การหักลดหย่อนบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้  สามารถหักได้คนละ 30,000.-บาท แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 3 คน

การนับจำนวนบุตร

        1. การนับจำนวนบุตร ให้นับเฉพาะบุตรที่มีชีวิตอยู่ตามลำดับอายุสูงสุดของบุตร
        2. ให้นำบุตรชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดมาหักก่อน  แล้วจึงนำบุตรบุญธรรมมาหัก  ยกเว้นกรณีผู้มีเงินได้มีบุตรชอบด้วยกฎหมายที่มีชีวิตอยู่รวมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป จะนำบุตรบุญธรรมมาหักอีกไม่ได้  แต่ถ้ามีบุตรชอบด้วยกฎหมายไม่ถึง 3 คน ให้นำบุตรบุญธรรมมาหักได้แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 3 คน
        ทั้งนี้เฉพาะบุตรที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฏหมายกำหนด
           
        3. กรณีลูกเธอ ลูกชั้น และลูกของเรา  เช่น 
            นาย ก มีบุตรชอบด้วยกฎหมายจากการแต่งงานครั้งแรก  จำนวน 3 คน
            นาง ข มีบุตรชอบด้วยกฎหมายจากการแต่งงานครั้งแรก  จำนวน 2 คน
            ต่อมา นาย ก และนาง ข ได้มาสมรสกันและมีบุตรด้วยกันจำนวน 2 คน ถ้านาย ก และนาง ข ต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ จำนวนบุตรที่นาย ก สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ เท่ากับ 7 คน  และจำนวนบุตรที่นาง ข สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ เท่ากับ 7 คน เช่นกัน

2. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งเป็นคนพิการหรือเป็นคนทุพพลภาพ

        นอกจากการหักลดหย่อนบุตรได้คนละ 30,000.-บาทแล้ว หากมีบุตรเป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ เรายังสามารถหักลดหย่อนกรณีเลี้ยงดูบุตรซึ่งเป็นคนพิการหรือทุพพลภาพได้เพิ่มอีก
        เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2561 ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 46) พ.ศ.2561 กำหนดให้ "หักลดหย่อนบุตรตั้งแต่คนที่ 2 เป็นต้นไป ที่เกิดในหรือหลังปี พ.ศ.2561 ได้เพิ่มอีกคนละ 30,000.-บาท" นั่นหมายความว่าใครที่มีบุตรที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 เป็นต้นไป และเป็นบุตรลำดับที่ 2,3,4 หรือ 5 หรือ... ก็ได้ สามารถนำมาหักลดหย่อนได้คนละ 60,000.- บาท


ส่วนเรื่องการใช้สิทธิลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรสามารถดูรายละเอียดได้ตามนี้ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร กับการลดหย่อนภาษี

หลักเกณ์การอุปการะบุตรซึ่งเป็นคนพิการ

        1. ต้องเป็นคนพิการซึ่งมีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
        2. คนพิการที่จะนำมาลดหย่อนต้องมีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 30,000.-บาท ในปีภาษีที่ใช้สิทธิลดหย่อน (เงินได้พึงประเมินในที่นี้หมายความรวมถึงเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากรด้วย)
       3. ผู้มีเงินได้ต้องเป็นผู้ดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ  และมีชื่อเป็นผู้ดูแลคนพิการในบัตรประจำตัวคนพิการ
       4. กรณีมีการเปลี่ยนแปลงผู้ดูแลคนพิการในระหว่างปีภาษี ให้ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้ดูแลคนพิการในบัตรประจำตัวคนพิการคนสุดท้ายในปีภาษีนั้นเป็นผู้มีสิทธิหักลดหย่อน
       5. กรณีผู้มีเงินได้หลายคนมีชื่อเป็นผู้ดูแลคนพิการ ให้ทุกคนตกลงกันเพื่อยินยอมให้คนหนึ่งคนใดเป็นผู้ใช้สิทธิลดหย่อน และทำความตกลงเป็นหนังสือโดยทุกคนเป็นผู้ลงนามในหนังสือตกลงยินยอมนั้น
       6. กรณีคู่สมรสไม่มีเงินได้ และเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้ดูแลบุตรพิการในบัตรประจำตัวคนพิการ โดยไม่มีชื่อผู้มีเงินได้อื่นอีกเป็นผู้ดูแล  ให้ผู้มีเงินได้สามารถใช้สิทธิลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งพิการได้
       7. กรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย (อยู่ในประเทศไทยในปีภาษีที่ขอลดหย่อนรวมระยะเวลาทั้งหมดแล้วไม่ถึง 180 วัน) ให้หักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุคคลพิการได้เฉพาะบุคคลพิการที่เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย
หลักฐานที่ใช้ประกอบในการหักลดหย่อน
        -  ภาพถ่ายบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
        -  ภาพถ่ายบัตรประจำตัวคนพิการในส่วนที่แสดงว่าผู้มีเงินได้เป็นผู้ดูแลคนพิการ
        -  หนังสือตกลงยินยอม (กรณีผู้มีเงินได้หลายคนเป็นผู้ดูแลคนพิการในบัตรประจำตัวคนพิการ)
        -  หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ (แบบ ล.ย.04)

หลักเกณฑ์การอุปการะบุตรซึ่งเป็นคนทุพพลภาพ

        1. ต้องเป็นคนทุพพลภาพที่แพทย์ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้ตรวจและแสดงความเห็นว่าเป็นบุคคลที่มีภาวะจำกัด หรือขาดความสามารถในการประกอบกิจวัตรหลักอันเป็นปกติเยี่ยงบุคคลทั่วไปอันเนื่องมาจากสาเหตุทางปัญหาสุขภาพ หรือความเจ็บป่วยที่เป็นต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 180 วัน หรือทุพพลภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 วัน
        2. คนทุพพลภาพที่จะนำมาลดหย่อนต้องมีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 30,000.-บาท ในปีภาษีที่ใช้สิทธิลดหย่อน (เงินได้พึงประเมินในที่นี้หมายความรวมถึงเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากรด้วย)
        3. ต้องมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ ที่รับรองว่าผู้มีเงินได้เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดู (แบบ ล.ย. 04-1) โดยผู้รับรองต้องเป็นบุคคลดังต่อไปนี้
            3.1 กรณีเป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับคนทุพพลภาพ  ได้แก่ สามี ภริยา บุตรชอบด้วยกฎหมาย บุตรบุญธรรมหรือหลาน บิดา มารดา พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันหรือร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา
            3.2 กำนันผู้ใหญ่บ้าน ในท้องที่ที่บุคคลทุพพลภาพอยู่อาศัย
            3.3 บุคคลที่เป็นสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในท้องที่ที่บุคคลทุพพลภาพอาศัยอยู่
            3.4 ผู้รับรองต้องเป็นบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะ และรับรองผู้มีเงินได้ได้ไม่เกิน 1 คน สำหรับการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพคนหนึ่งคนใด
        4. กรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย (อยู่ในประเทศไทยในปีภาษีที่ขอลดหย่อนรวมระยะเวลาทั้งหมดแล้วไม่ถึง 180 วัน) ให้หักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุคคลทุพพลภาพได้เฉพาะบุคคลทุพพลภาพที่เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย
หลักฐานที่ใช้ประกอบในการหักลดหย่อน
        -  ใบรับรองแพทย์ที่แพทย์ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้ตรวจและแสดงความเห็นว่าเป็นบุคคลที่มีภาวะจำกัด หรือขาดความสามารถในการประกอบกิจวัตรหลักอันเป็นปกติเยี่ยงบุคคลทั่วไปอันเนื่องมาจากสาเหตุทางปัญหาสุขภาพ หรือความเจ็บป่วยที่เป็นต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 180 วัน หรือทุพพลภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 วัน
        -  หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ (แบบ ล.ย.04)
        -  หนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ (แบบ ล.ย. 04-1)

การหักลดหย่อนค่าอุปการะบุตรซึ่งเป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ

        1. หักลดหย่อนค่าอุปการะบุตรซึ่งเป็นคนพิการหรือคนทุพพลภาพได้คนละ 60,000.- บาท
        2. กรณีเป็นทั้งคนพิการและเป็นคนทุพพลภาพด้วย ให้หักลดหย่อนได้ในฐานะคนพิการเพียงฐานะเดียว
        ยกตัวอย่างเช่น  นาย ก สมรสกับนาง ข  โดยนาง ข เป้นผู้ไม่มีเงินได้  มีบุตรด้วยกันจำนวน 3 คน อายุ 18 ปี 15 ปี และ 9 ปี ตามลำดับ โดยบุตรคนที่ 3 เป็นคนพิการมีชื่อ นาง ข เป็นผู้ดูแลในบัตรประจำตัวคนพิการ  นาย ก สามารถลดหย่อนบุตรได้ดังนี้
                    -   ลดหย่อนบุตรจำนวน 3 คน    ค่าลดหย่อนจำนวน                         90,000.- บาท
                    -   ลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรคนที่ 3 ซึ่งเป็นคนพิการ อีก         60,000.- บาท
                         รวมนาย ก ใช้สิทธิลดหย่อนเกี่ยวกับบุตรได้รวมจำนวน             150,000.- บาท

       จะเห็นได้ว่าการหักลดหย่อนบุตรนั้นเป็นการหักลดหย่อนที่เนื่องมาจากการอุปการะเลี้ยงดูทั้งในส่วน ที่บิดามารดามีหน้าที่ต้องเลี้ยงดูด้วยธรรมจรรยาตามปกติโดยทั่วไป หรือหากบุตรเป็นบุคคลพิการหรือทุพพลภาพก็สามารถนำมาหักลดหย่อนได้เพิ่มขึ้นอีก ก็เพื่อเป็นการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของบิดามารดานั่นเอง


4 ความคิดเห็น:

  1. กรณีหย่าร้ากันแต่ฝ่ายหญิงเป็นคนดูแล บันทึกท้ายใบหย่าฝ่ายชายส่งเสียบุตรเดือนล่ะ5000 ฝ่ายชายลดหย่อนได้มั้ยคับ

    ตอบลบ
  2. กรณีหย่าร้างกันแต่ฝ่ายหญิงเป็นคนดูแล ท้ายใบหย่าไม่ได้ระบุว่าฝ่ายชายส่งเสียเลี้ยงดูบุตร แต่ความเป็นจริงฝ่ายชายส่งเสียเลี้ยงดูบุตร เดือนละ 5000 แบบนี้ฝ่ายชายสามารถลดหย่อนภาษีได้มั้ยคะ

    ตอบลบ
  3. กรณีหย่าร้างกันและได้ระบุท้ายใบหย่าให้ฝ่ายหญิงเป็นผู้ดูแล แต่ความเป็นจริงไม่ได้ดูแลเลี้ยงดูเป็นฝ่ายชายเลี้ยงดูส่งเสียค่าเล่าเรียนเองทั้งหมด ฝ่ายชายสามารถหักลดหย่อยภาษีได้ไหมครับ

    ตอบลบ