การหักลดหย่อนบิดามารดา - TaxTeller

วันจันทร์ที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2561

การหักลดหย่อนบิดามารดา


การหักลดหย่อนบิดามารดา

        การเลี้ยงดูบิดามารดาเมื่อเราเจริญเติบโตขึ้นมีการมีงานทำ เป็นวัฒนธรรมที่คนไทยถือปฏิบัติกันมาช้านานแล้ว ถือเป็นการตอบแทนพระคุณบิดามารดาผู้ให้กำเนิด เป็นการกตัญญูรู้คุณ เป็นสิ่งที่ดีที่ผู้เขียนคิดว่าช่วยให้เรามีจิตใจที่ดี อ่อนโยน สังคมน่าอยู่ขึ้น เป็นสิ่งหนึ่งที่ยังน่าจรรโลงใจเมื่อเทียบกับการเจริญเติบโตทางด้านเทคโนโลยีที่ปัจจุบันคนไม่ค่อยคุยกันแล้ว  เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เราดูแลบิดา มารดา รัฐบาลจึงให้ผู้ที่อุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาสามารถนำค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดามาหักค่าลดหย่อนได้
        ค่าลดหย่อนที่เกี่ยวกับการอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา มีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภท ได้แก่
            1. ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา
            2. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา
            3. ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาซึ่งเป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ

1. ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา

        ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาของผู้มีเงินได้  รวมถึงบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้
หลักเกณฑ์และเงื่อนไข
        1. ผู้มีเงินได้ หรือสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดามารดา ที่นำมาหักลดหย่อน (บุตรบุญธรรมไม่สามารถใช้สิทธิได้)
        2. บิดามารดา ต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยอายุจะครบ 60 ปีในเดือนใดก็ได้ สามารถนำมาหักลดหย่อนในปีภาษีที่อายุครบ 60 ปีได้เลย
        3. บิดามารดา ต้องอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้
        4. บิดามารดา ต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 30,000.-บาท ในปีภาษีที่ใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษี (เงินได้พึงประเมินในที่นี้ หมายถึงเงินได้พึงประเมินทุกประเภทรวมทั้งเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากรด้วย)
        5. บิดามารดา ต้องมีเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎร หากบิดามารดา เป็นบุคคลต่างด้าว แต่มีเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎร ก็สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้
        6. กรณีผู้มีเงินได้หลายคนอุปการะเลี้ยงดูบิดา มารดา คนเดียวกัน ให้ผู้มีเงินได้คนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว ตกลงใช้สิทธิลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา
        7. ต้องมีหลักฐานรับรองการอุปการะเลี้ยงดูจากบิดามารดา (แบบ ล.ย.03)
        8. กรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย (อยู่ในประเทศไทยในปีภาษี รวมระยะเวลาทั้งหมดแล้วไม่ถึง 180 วัน) ให้หักลดหย่อนได้เฉพาะบิดามารดาที่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น   
การหักค่าลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา        
         หักลดหย่อนค่าอุปการะบิดามารดาได้คนละ 30,000.- บาท

  *กรณีบิดามารดาเข้าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กฏหมายกำหนด

2. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา

 หลักเกณฑ์และเงื่อนไข
       1. ผู้รับประกันต้องเป็นบริษัทประกันชีวิต หรือบริษัทประกันวินาศภัยที่ประกอบกิจการในประเทศไทย
       2. ต้องเป็นเบี้ยประกันสุขภาพดังต่อไปนี้
            -  การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วย และการบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะ เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
            - การประกันภัยอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลการทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก
            - การประกันภัยโรคร้ายแรง (Critical Illnesses)
            - การประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long Term Care)
        3. ต้องเป็นการทำประกันสุขภาพให้กับบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมถึงบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้
        4. ผู้มีเงินได้หรือสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้  ต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดามารดา (บุตรบุญธรรมไม่สามารถใช้สิทธิได้)
        5. บิดามารดา ต้องไม่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 30,000.-บาท ในปีภาษีที่ใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษี (เงินได้พึงประเมินในที่นี้ หมายถึงเงินได้พึงประเมินทุกประเภทรวมทั้งเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากรด้วย)
        6. กรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย (อยู่ในประเทศไทยในปีภาษี รวมระยะเวลาทั้งหมดแล้วไม่ถึง 180 วัน) ให้หักลดหย่อนได้เฉพาะบิดามารดาที่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น
        7. หักลดหย่อนได้ตามจำนวนเบี้ยประกันที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000.- บาท
        8. กรณีผู้มีเงินได้หลายคนร่วมกันทำประกันสุขภาพให้บิดามารดา ให้ผู้มีเงินได้ทุกคนได้รับสิทธิลดหย่อนโดยเฉลี่ยเบี้ยประกันภัยที่ผู้มีเงินได้ได้ร่วมกันจ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000.-บาท ตามส่วนจำนวนผู้มีเงินได้
            ตัวอย่างที่ 1  นาย ก  นาย ข  นาย ค  เป็นผู้มีเงินได้  ได้ร่วมกันซื้อเบี้ยประกันสุขภาพให้มารดา  จ่ายค่าเบี้ยประกันสุขภาพไปจำนวน 15,000.- บาท สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ดังนี้
               นาย ก  ใช้สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพมารดาได้ จำนวน   5,000.-บาท
               นาย ข  ใช้สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพมารดาได้ จำนวน   5,000.-บาท
               นาย ค  ใช้สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพมารดาได้ จำนวน   5,000.-บาท
            ตัวอย่างที่ 2  พี่ ซื้อเบี้ยประกันสุขภาพให้บิดา จำนวน 10,000.- บาท น้อง ซื้อเบี้ยประกันสุขภาพให้บิดา จำนวน 15,000.-บาท ซื้อให้มารดาจำนวน 10,000.-บาท สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ดังนี้
               พี่  ใช้สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพบิดาได้  จำนวน          10,000.- บาท
               น้อง ใช้สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพบิดาได้  จำนวน       15,000.- บาท
                       ใช้สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพมารดาได้  จำนวน   10,000.- บาท
หลักฐานที่ใช้ประกอบการลดหย่อน
        1. ใบเสร็จรับเงิน หรือหนังสือรับรองจาก บริษัทประกันชีวิต หรือ บริษัทประกันวินาศภัย
        2. ต้องมีข้อความอย่างน้อย ดังต่อไปนี้
            -  ชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวประชาชนของผู้เอาประกันภัย
            -  ชื่อ นามสกุล ของผู้จ่ายเบี้ยประกันภัย (ทุกคน)
            - ชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้รับประกันภัย
            - จำนวนเบี้ยประกันภัย
            - จำนวนเงินที่มีสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้

3. ค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาซึ่งเป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ

นอกจากค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดา หากบิดามารดาเป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ เรายังสามารถหักลดหย่อนกรณีเลี้ยงดูบิดามารดาซึ่งเป็นคนพิการหรือทุพพลภาพได้เพิ่มอีกหลักเกณ์การอุปการะบิดามารดาซึ่งเป็นคนพิการ
        1. ต้องเป็นคนพิการซึ่งมีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
        2. คนพิการที่จะนำมาลดหย่อนต้องมีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 30,000.-บาท ในปีภาษีที่ใช้สิทธิลดหย่อน (เงินได้พึงประเมินในที่นี้หมายความรวมถึงเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากรด้วย)
       3. ผู้มีเงินได้ต้องเป็นผู้ดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ  และมีชื่อเป็นผู้ดูแลคนพิการในบัตรประจำตัวคนพิการ
       4. กรณีมีการเปลี่ยนแปลงผู้ดูแลคนพิการในระหว่างปีภาษี ให้ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้ดูแลคนพิการในบัตรประจำตัวคนพิการคนสุดท้ายในปีภาษีนั้นเป็นผู้มีสิทธิหักลดหย่อน
       5. กรณีผู้มีเงินได้หลายคนมีชื่อเป็นผู้ดูแลคนพิการ ให้ทุกคนตกลงกันเพื่อยินยอมให้คนหนึ่งคนใดเป็นผู้ใช้สิทธิลดหย่อน และทำความตกลงเป็นหนังสือโดยทุกคนเป็นผู้ลงนามในหนังสือตกลงยินยอมนั้น
       6. กรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย (อยู่ในประเทศไทยในปีภาษีที่ขอลดหย่อนรวมระยะเวลาทั้งหมดแล้วไม่ถึง 180 วัน) ให้หักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุคคลพิการได้เฉพาะบุคคลพิการที่เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย
หลักฐานที่ใช้ประกอบในการหักลดหย่อน
        -  ภาพถ่ายบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
        -  ภาพถ่ายบัตรประจำตัวคนพิการในส่วนที่แสดงว่าผู้มีเงินได้เป็นผู้ดูแลคนพิการ
        -  หนังสือตกลงยินยอม (กรณีผู้มีเงินได้หลายคนเป็นผู้ดูแลคนพิการในบัตรประจำตัวคนพิการ)
        -  หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ (แบบ ล.ย.04)
หลักเกณฑ์การอุปการะบิดามารดาซึ่งเป็นคนทุพพลภาพ
        1. ต้องเป็นคนทุพพลภาพที่แพทย์ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้ตรวจและแสดงความเห็นว่าเป็นบุคคลที่มีภาวะจำกัด หรือขาดความสามารถในการประกอบกิจวัตรหลักอันเป็นปกติเยี่ยงบุคคลทั่วไปอันเนื่องมาจากสาเหตุทางปัญหาสุขภาพ หรือความเจ็บป่วยที่เป็นต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 180 วัน หรือทุพพลภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 วัน
        2. คนทุพพลภาพที่จะนำมาลดหย่อนต้องมีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 30,000.-บาท ในปีภาษีที่ใช้สิทธิลดหย่อน (เงินได้พึงประเมินในที่นี้หมายความรวมถึงเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากรด้วย)
        3. ต้องมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ ที่รับรองว่าผู้มีเงินได้เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดู (แบบ ล.ย. 04-1) โดยผู้รับรองต้องเป็นบุคคลดังต่อไปนี้
            3.1 กรณีเป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับคนทุพพลภาพ  ได้แก่ สามี ภริยา บุตรชอบด้วยกฎหมาย บุตรบุญธรรมหรือหลาน บิดา มารดา พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันหรือร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา
            3.2 กำนันผู้ใหญ่บ้าน ในท้องที่ที่บุคคลทุพพลภาพอยู่อาศัย
            3.3 บุคคลที่เป็นสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในท้องที่ที่บุคคลทุพพลภาพอาศัยอยู่
            3.4 ผู้รับรองต้องเป็นบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะ และรับรองผู้มีเงินได้ได้ไม่เกิน 1 คน สำหรับการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพคนหนึ่งคนใด
        4. กรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย (อยู่ในประเทศไทยในปีภาษีที่ขอลดหย่อนรวมระยะเวลาทั้งหมดแล้วไม่ถึง 180 วัน) ให้หักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุคคลทุพพลภาพได้เฉพาะบุคคลทุพพลภาพที่เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย
หลักฐานที่ใช้ประกอบในการหักลดหย่อน
        -  ใบรับรองแพทย์ที่แพทย์ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้ตรวจและแสดงความเห็นว่าเป็นบุคคลที่มีภาวะจำกัด หรือขาดความสามารถในการประกอบกิจวัตรหลักอันเป็นปกติเยี่ยงบุคคลทั่วไปอันเนื่องมาจากสาเหตุทางปัญหาสุขภาพ หรือความเจ็บป่วยที่เป็นต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 180 วัน หรือทุพพลภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 วัน
        -  หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ (แบบ ล.ย.04)
        -  หนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ (แบบ ล.ย. 04-1)
การหักลดหย่อนค่าอุปการะบิดามารดาซึ่งเป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ
        1. หักลดหย่อนค่าอุปการะบิดามารดาซึ่งเป็นคนพิการหรือคนทุพพลภาพได้คนละ 60,000.- บาท
        2. กรณีเป็นทั้งคนพิการและเป็นคนทุพพลภาพด้วย ให้หักลดหย่อนได้ในฐานะคนพิการเพียงฐานะเดียว
        ยกตัวอย่างเช่น  นาย ก สมรสกับนาง ข  โดยนาง ข เป็นผู้ไม่มีเงินได้  นาย ก อุปการะเลี้ยงดูบิดาของ นาย ก ซึ่งมีอายุ 65 ปี และเป็นผู้ไม่มีเงินได้  และอุปการะมารดาของนาง ข ซึ่งเป็นคนพิการ อายุ 70ปี ไม่มีเงินได้  นาย ก สามารถลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาได้ดังนี้ได้ดังนี้
                    -   ลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดา ของนาย ก จำนวน                        30,000.- บาท
                    -   ลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูมารดา ของนาง ข จำนวน                     30,000.- บาท
                         ลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูมารดา ของนาง ข ซึ่งพิการ จำนวน      60,000.- บาท
                         รวมนาย ก ใช้สิทธิลดหย่อนเกี่ยวกับบิดามารดาได้รวมจำนวน      120,000.- บาท

       การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดามีหลายกรณีดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  ลองศึกษาหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และหลักฐานที่ใช้ประกอบการในการใช้สิทธิลดหย่อน เพื่อที่จะได้เตรียมตัว เตรียมพร้อมสำหรับการยื่นเสียภาษีปลายปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น