การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ - TaxTeller

วันศุกร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ

การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ

        การเกิดมาอวัยวะครบถ้วน 32 ประการ ถือว่าเป็นคนที่มีร่างกายสมบูรณ์  สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้เป็นปกติ ตรงกันข้ามกับคนที่มีอวัยวะไม่ครบถ้วน ร่างกายไม่สมบูรณ์อาจจะตั้งแต่เกิด หรือเกิดจากอุบัติเหตุ หรือจากสาเหตุอื่นใดก็แล้วแต่ คนเหล่านี้จะไม่สามารถประกอบกิจวัตรประจำวันได้เหมือนคนปกติทั่วไป  ต้องมีคนคอยดูแล และสิ่งที่ตามมาก็จะเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น เพื่อเป็นการส่งเสริมการอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ จึงได้มีมาตรการลดหย่อนภาษีจากค่าอุปการะเลี้ยงดูดังกล่าว เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระคนดูแลนั่นเอง

       คนพิการ 

การพิจารณาบุคคลที่มีความบกพร่องเพื่อจัดประเภทของคนพิการ มีหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
คนตาบอด หมายถึง บุคคลที่สูญเสียการเห็นมาก จนต้องใช้สื่อสัมผัสและสื่อเสียง หากตรวจวัดความชัดของสายตาข้างดีเมื่อแก้ไขแล้ว อยู่ในระดับ 6 ส่วน 60 (6/60) หรือ 20 ส่วน 200 (20/200) จนถึงไม่สามารถรับรู้เรื่องแสง
    1.2 คนเห็นเลือนราง หมายถึง บุคคลที่สูญเสียการเห็น แต่ยังสามารถอ่านอักษร ตัวพิมพ์ขยายใหญ่ด้วยอุปกรณ์เครื่องช่วยความพิการ หรือเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก หากวัดความชัดเจนของสายตาข้างดีเมื่อแก้ไข70แล้วอยู่ในระดับ 6 ส่วน 18 (6/18) หรือ 20 ส่วน 70 (20/70)
2.  บุคคลที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ได้แก่ บุคคลที่สูญเสียการได้ยินตั้งแต่ระดับหูตึงน้อยจนถึงหูหนวก ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้
    2.1 คนหูหนวก หมายถึง บุคคลที่สูญเสียการได้ยินมากจนไม่สามารถเข้าใจการพูดผ่านทางการได้ยินไม่ว่าจะใส่หรือไม่ใส่เครื่องช่วยฟัง ซึ่งโดยทั่วไปหากตรวจการได้ยินจะมีการสูญเสียการได้ยิน 90 เดซิเบลขึ้นไป
    2.2 คนหูตึง หมายถึง บุคคลที่มีการได้ยินเหลืออยู่เพียงพอที่จะได้ยินการพูดผ่านทางการได้ยิน โดยทั่วไปจะใส่เครื่องช่วยฟัง ซึ่งหากตรวจวัดการได้ยินจะมีการสูญเสียการได้ยินน้อยกว่า 90 เดซิเบลลงมาถึง 26 เดซิเบล
3. บุคคลที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา ได้แก่ บุคคลที่มีความจำกัดอย่างชัดเจนในการปฏิบัติตน (Functioning) ในปัจจุบัน ซึ่งมีลักษณะเฉพาะ คือ ความสามารถทางสติปัญญาต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยอย่างมีนัยสำคัญร่วมกับความจำกัดของทักษะการปรับตัวอีกอย่างน้อย 2 ทักษะจาก 10 ทักษะ ได้แก่ การสื่อความหมาย การดูแลตนเอง การดำรงชีวิตภายในบ้านทักษะทางสังคม/การมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น การรู้จักใช้ทรัพยากรในชุมชน การรู้จักดูแลควบคุมตนเอง การนำความรู้มาใช้ในชีวิตประจำวัน การทำงาน การใช้เวลาว่าง การรักษาสุขภาพอนามัยและความปลอดภัย ทั้งนี้ ได้แสดงอาการดังกล่าวก่อนอายุ 18 ปี
4. บุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกาย หรือการเคลื่อนไหว หรือสุขภาพ ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้
    4.1  บุคคลที่มีความบกพร่องทางร่างกาย หรือการเคลื่อนไหว ได้แก่ บุคคลที่มีอวัยวะไม่สมส่วนหรือขาดหายไป กระดูกหรือกล้ามเนื้อผิดปกติ มีอุปสรรคในการเคลื่อนไหว ความบกพร่องดังกล่าวอาจเกิดจากโรคทางระบบประสาท โรคของระบบกล้ามเนื้อและกระดูก การไม่สมประกอบ มาแต่กำเนิด อุบัติเหตุและโรคติดต่อ
    4.2 บุคคลที่มีความบกพร่องทางสุขภาพ ได้แก่ บุคคลที่มีความเจ็บป่วยเรื้อรังหรือมีโรคประจำตัวซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และเป็นอุปสรรคต่อการศึกษา ซึ่งมีผลทำให้เกิดความจำเป็นต้องได้รับการศึกษาพิเศษ
5. บุคคลที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ได้แก่ บุคคลที่มีความผิดปกติในการทำงานของสมองบางส่วนที่แสดงถึงความบกพร่องในกระบวนการเรียนรู้ที่อาจเกิดขึ้นเฉพาะความสามารถด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้าน คือ การอ่าน การเขียน การคิดคำนวณ ซึ่งไม่สามารถเรียนรู้ในด้านที่บกพร่องได้ ทั้งที่มีระดับสติปัญญาปกติ
6. บุคคลที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษา ได้แก่ บุคคลที่มีความบกพร่องในการเปล่งเสียงพูด เช่น เสียงผิดปกติ อัตราความเร็วและจังหวะการพูดผิดปกติ หรือบุคคลที่มีความบกพร่อง ในเรื่องความเข้าใจหรือการใช้ภาษาพูด การเขียนหรือระบบสัญลักษณ์อื่นที่ใช้ในการติดต่อสื่อสาร ซึ่งอาจเกี่ยวกับรูปแบบ เนื้อหาและหน้าที่ของภาษา
7.  บุคคลที่มีความบกพร่องทางพฤติกรรม หรืออารมณ์ ได้แก่ บุคคลที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปจากปกติเป็นอย่างมาก และปัญหาทางพฤติกรรมนั้นเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากความบกพร่องหรือความผิดปกติทางจิตใจหรือสมองในส่วนของการรับรู้ อารมณ์หรือความคิด เช่น โรคจิตเภท โรคซึมเศร้า โรคสมองเสื่อม เป็นต้น
8. บุคคลออทิสติก ได้แก่ บุคคลที่มีความผิดปกติของระบบการทำงานของสมองบางส่วน ซึ่งส่งผลต่อความบกพร่องทางพัฒนาการด้านภาษา ด้านสังคมและการปฏิสัมพันธ์ทางสังคม และมีข้อจำกัดด้านพฤติกรรม หรือมีความสนใจจำกัดเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยความผิดปกตินั้นค้นพบได้ก่อนอายุ 30 เดือน
9. บุคคลพิการซ้อน ได้แก่ บุคคลที่มีสภาพความบกพร่องหรือความพิการมากกว่าหนึ่งประเภทในบุคคลเดียวกัน

คนทุพพลภาพ

คนทุพพลภาพที่แพทย์ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้ตรวจและแสดงความเห็นว่าเป็นบุคคลที่มีภาวะจำกัด หรือขาดความสามารถในการประกอบกิจวัตรหลักอันเป็นปกติเยี่ยงบุคคลทั่วไป อันเนื่องมาจากสาเหตุทางปัญหาสุขภาพ หรือความเจ็บป่วยที่เป็นต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 180 วัน หรือทุพพลภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 วัน

ความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีเงินได้กับคนพิการหรือคนทุพพลภาพ
         ผู้มีเงินได้ที่จะนำคนพิการหรือคนทุพพลภาพมาหักลดหย่อนต้องมีความสัมพันธ์กับคนพิการหรือคนทุพพลภาพดังต่อไปนี้
1. เป็นบิดา มารดาของผู้มีเงินได้
2. เป็นบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้
3. เป็นสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้
4. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย หรือบุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้
5. เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้
6. หากเป็นบุคคลอื่นที่นอกเหนือจาก 1 – 5 หากผู้มีเงินได้เป็นผู้ดูแลตามกฎหมาย ผู้มีเงินได้สามารถใช้สิทธิได้เพียง 1 คน

หลักเกณ์การอุปการะบุคคลซึ่งเป็นคนพิการ

        1. ต้องเป็นคนพิการซึ่งมีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
        2. คนพิการที่จะนำมาลดหย่อนต้องมีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 30,000.-บาท ในปีภาษีที่ใช้สิทธิลดหย่อน (เงินได้พึงประเมินในที่นี้หมายความรวมถึงเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากรด้วย)
       3. ผู้มีเงินได้ต้องเป็นผู้ดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ  และมีชื่อเป็นผู้ดูแลคนพิการในบัตรประจำตัวคนพิการ
       4. กรณีมีการเปลี่ยนแปลงผู้ดูแลคนพิการในระหว่างปีภาษี ให้ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้ดูแลคนพิการในบัตรประจำตัวคนพิการคนสุดท้ายในปีภาษีนั้นเป็นผู้มีสิทธิหักลดหย่อน
       5. กรณีผู้มีเงินได้หลายคนมีชื่อเป็นผู้ดูแลคนพิการ ให้ทุกคนตกลงกันเพื่อยินยอมให้คนหนึ่งคนใดเป็นผู้ใช้สิทธิลดหย่อน และทำความตกลงเป็นหนังสือโดยทุกคนเป็นผู้ลงนามในหนังสือตกลงยินยอมนั้น
       6. กรณีคู่สมรสไม่มีเงินได้ และเป็นผู้มีชื่อเป็นผู้ดูแลบุตรพิการในบัตรประจำตัวคนพิการ โดยไม่มีชื่อผู้มีเงินได้อื่นอีกเป็นผู้ดูแล  ให้ผู้มีเงินได้สามารถใช้สิทธิลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งพิการได้
       7. กรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย (อยู่ในประเทศไทยในปีภาษีที่ขอลดหย่อนรวมระยะเวลาทั้งหมดแล้วไม่ถึง 180 วัน) ให้หักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุคคลพิการได้เฉพาะบุคคลพิการที่เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย
หลักฐานที่ใช้ประกอบในการหักลดหย่อน
        -  ภาพถ่ายบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
        -  ภาพถ่ายบัตรประจำตัวคนพิการในส่วนที่แสดงว่าผู้มีเงินได้เป็นผู้ดูแลคนพิการ
        -  หนังสือตกลงยินยอม (กรณีผู้มีเงินได้หลายคนเป็นผู้ดูแลคนพิการในบัตรประจำตัวคนพิการ)
        -  หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ (แบบ ล.ย.04)

หลักเกณฑ์การอุปการะบุคคลซึ่งเป็นคนทุพพลภาพ

        1. ต้องเป็นคนทุพพลภาพที่แพทย์ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้ตรวจและแสดงความเห็นว่าเป็นบุคคลที่มีภาวะจำกัด หรือขาดความสามารถในการประกอบกิจวัตรหลักอันเป็นปกติเยี่ยงบุคคลทั่วไปอันเนื่องมาจากสาเหตุทางปัญหาสุขภาพ หรือความเจ็บป่วยที่เป็นต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 180 วัน หรือทุพพลภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 วัน
        2. คนทุพพลภาพที่จะนำมาลดหย่อนต้องมีเงินได้พึงประเมินไม่เกิน 30,000.-บาท ในปีภาษีที่ใช้สิทธิลดหย่อน (เงินได้พึงประเมินในที่นี้หมายความรวมถึงเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากรด้วย)
        3. ต้องมีหนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ ที่รับรองว่าผู้มีเงินได้เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดู (แบบ ล.ย. 04-1) โดยผู้รับรองต้องเป็นบุคคลดังต่อไปนี้
            3.1 กรณีเป็นบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับคนทุพพลภาพ  ได้แก่ สามี ภริยา บุตรชอบด้วยกฎหมาย บุตรบุญธรรมหรือหลาน บิดา มารดา พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันหรือร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา
            3.2 กำนันผู้ใหญ่บ้าน ในท้องที่ที่บุคคลทุพพลภาพอยู่อาศัย
            3.3 บุคคลที่เป็นสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในท้องที่ที่บุคคลทุพพลภาพอาศัยอยู่
            3.4 ผู้รับรองต้องเป็นบุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะ และรับรองผู้มีเงินได้ได้ไม่เกิน 1 คน สำหรับการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพคนหนึ่งคนใด
        4. กรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย (อยู่ในประเทศไทยในปีภาษีที่ขอลดหย่อนรวมระยะเวลาทั้งหมดแล้วไม่ถึง 180 วัน) ให้หักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุคคลทุพพลภาพได้เฉพาะบุคคลทุพพลภาพที่เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย
หลักฐานที่ใช้ประกอบในการหักลดหย่อน
        -  ใบรับรองแพทย์ที่แพทย์ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้ตรวจและแสดงความเห็นว่าเป็นบุคคลที่มีภาวะจำกัด หรือขาดความสามารถในการประกอบกิจวัตรหลักอันเป็นปกติเยี่ยงบุคคลทั่วไปอันเนื่องมาจากสาเหตุทางปัญหาสุขภาพ หรือความเจ็บป่วยที่เป็นต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 180 วัน หรือทุพพลภาพมาแล้วไม่น้อยกว่า 180 วัน
        -  หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ (แบบ ล.ย.04)
        -  หนังสือรับรองการเป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูคนทุพพลภาพ (แบบ ล.ย. 04-1)

การหักลดหย่อนค่าอุปการะบุคคลซึ่งเป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ

        1. หักลดหย่อนค่าอุปการะบุคคลซึ่งเป็นคนพิการหรือคนทุพพลภาพได้คนละ 60,000.- บาท
        2. กรณีเป็นทั้งคนพิการและเป็นคนทุพพลภาพด้วย ให้หักลดหย่อนได้ในฐานะคนพิการเพียงฐานะเดียว
        ยกตัวอย่างเช่น  นาย ก สมรสกับนาง ข  โดยนาง ข เป้นผู้ไม่มีเงินได้  มีบุตรด้วยกันจำนวน 3 คน อายุ 18 ปี 15 ปี และ 9 ปี ตามลำดับ โดยบุตรคนที่ 3 เป็นคนพิการมีชื่อ นาง ข เป็นผู้ดูแลในบัตรประจำตัวคนพิการ  และนาย ก ยังผู้ดูแลน้องชายซึ่งเป็นคนพิการในบัตรประจำตัวคนพิการอีก 2 คน  นาย ก สามารถลดหย่อนได้ดังนี้
                    -   ลดหย่อนบุตรจำนวน 3 คน    ค่าลดหย่อนจำนวน                                       90,000.- บาท
                    -   ลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรคนที่ 3 ซึ่งเป็นคนพิการ อีก                       60,000.- บาท
                    -   ลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูน้องชายซึ่งเป็นคนพิการ อีก จำนวน 1 คน       60,000.- บาท
               (นาย ก สามารถหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการซึ่งเป็นบุคคลอื่นได้เพียงจำนวน 1 คน)
                         รวมนาย ก ใช้สิทธิลดหย่อนได้รวมจำนวน                                                210,000.- บาท
หากใครมีคนพิการหรือคนทุพพลภาพที่ต้องอุปการะเลี้ยงดู ก็ลองศึกษาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขเพื่อนำไปหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพกันดู การหักลดหย่อนนี้จะสามารถลดภาษีได้มากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับอัตราภาษีที่แต่ละคนต้องเสีย จึงมีผลในแต่ละคนไม่เหมือนกัน  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น