ยกเว้นเงินได้ ค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ ปี 2562 - TaxTeller

วันจันทร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ยกเว้นเงินได้ ค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ ปี 2562

ยกเว้นเงินได้ ค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ ปี 2562

"อสังหาริมทรัพย์" หมายถึง อาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของผู้มีเงินได้        

หลักเกณฑ์และเงื่อนไข

        ผู้จะใช้สิทธิยกเว้นเงินได้ค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ ต้องมีเงื่อนไขดังนี้
             1.  ต้องเป็นบุคคลธรรมดาซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ไม่ใช่ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล)
             2. อสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อต้องมีมูลค่าไม่เกิน 5,000,000.- บาท
             3. การซื้ออสังหาริมทรัพย์ต้องเป็นสัญญาการซื้อที่ดินพร้อมอาคาร ไม่ใช่การซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่แยกสัญญาซื้อขายที่ดินและสัญญาก่อสร้างอาคารออกจากกัน
             4. ต้องจ่ายค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ และมีการจดทะเบียน โอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2562  ถึงวันที่ 31  ธันวาคม พ.ศ. 2562
             2.  ต้องไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดินหรือ ห้องชุดในอาคารชุดเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของตนมาก่อน
             3.  ต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อเป็นเวลาติดต่อกัน ไม่น้อยกว่า 5 ปีนับแต่วันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ แต่ไม่รวมถึงกรณีผู้มีเงินได้ ถึงแก่ความตายหรือกรณีอสังหาริมทรัพย์นั้นสิ้นสภาพไปทั้งหมด

เอกสารหลักฐาน

            1. สำเนาสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ เช่น
                -  สำเนาสัญญาขาย (ทด.13) หรือ
                -  สำเนาสัญญาซื้อขายห้องชุดในอาคารชุด (อ.ช.23) หรือ
                -  สำเนาหนังสือโอนกรรมสิทธิ์อาคารพร้อมที่ดินหรือห้องชุดในอาคารชุด
            2. หนังสือรับรองจากผู้ขายที่พิสูจน์ได้ว่า มีการจ่ายค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ โดยต้องมีข้อความอย่างน้อยตามแบบที่สรรพากรกำหนด (ตัวอย่างหนังสือรับรองฯ คลิกที่นี่)
            3. หนังสือรับรองตนเองของผู้มีเงินได้ที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ว่า เป็นที่อยู่อาศัยแห่งแรก โดยต้องมีข้อความอย่างน้อยตามแบบที่สรรพากรกำหนด (ตัวอย่างหนังสือรับรองฯ คลิกที่นี่)

การได้รับยกเว้น

            1. ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปีภาษี 2562 ที่ต้องยื่นรายการและชำระภาษีเงินได้ในปี 2563     
             2. ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เท่าจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
             3. กรณีที่ผู้มีเงินได้หลายคนร่วมกันซื้ออสังหาริมทรัพย์ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ทุกคน โดยเฉลี่ยการได้รับยกเว้นภาษีตามส่วนของกรรมสิทธิ์ของแต่ละคน แต่รวมกันทั้งหมดแล้วต้องไม่เกิน จำนวนที่จ่ายจริงและไม่เกิน 200,000 บาท
                   กรณีที่ 1  นาย ก นาย ข ร่วมกันซื้อบ้านพร้อมที่ดิน ราคา 2,000,000.- บาท และมีการโอนกรรมสิทธิ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562   โดยมีสัดส่วนการถือกรรมสิทธิคนละกึ่งหนึ่ง ดังนั้น
                    นาย ก มีสิทธิยกเว้นเงินได้ของปีภาษี 2562 จำนวน 100,000.- บาท
                    นาย ข มีสิทธิยกเว้นเงินได้ของปีภาษี 2562 จำนวน 100,000.- บาท
                   กรณีที่ 2  นาย ก นาย ข ร่วมกันซื้อบ้านพร้อมที่ดิน ราคา 2,000,000.- บาท และมีการโอนกรรมสิทธิ เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2562   โดยนาย ก จ่ายค่าอสังหาริมทรัพย์ไปทั้งสิ้นจำนวน 1,400,000.- บาท คิดเป็นร้อยละ 70  ส่วนนาย ข จ่ายค่าอสังหาริมทรัพย์ไปทั้งสิ้นจำนวน 600,000.- บาทคิดเป็นร้อยละ 30  ดังนั้น
                    นาย ก มีสิทธิยกเว้นเงินได้ของปีภาษี 2562 จำนวน 140,000.- บาท
                    นาย ข มีสิทธิยกเว้นเงินได้ของปีภาษี 2562 จำนวน   60,000.- บาท
             4. กรณีที่สามีภริยาร่วมกันซื้ออสังหาริมทรัพย์และต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ การได้รับสิทธิยกเว้น ภาษีเงินได้ให้ใช้หลักเกณฑ์ตาม (3) โดยยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมิน ดังนี้
                 (1) ถ้าต่างฝ่ายต่างยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินที่ตนได้รับ หรือแยกยื่นรายการ และเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่ถือเป็นเงินได้ ของอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีเงินได้
                 (2) ถ้าสามีภริยาตกลงยื่นรายการและเสียภาษีรวมกัน โดยถือเอาเงินได้พึงประเมินของตน เป็นเงินได้ของสามีหรือภริยาอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 57 ฉ แห่งประมวลรัษฎากร ให้ผู้มีเงินได้ได้รับ ยกเว้นภาษีเงินได้ส่วนของตน และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ส่วนของสามีหรือภริยาด้วย
             5. กรณีที่สามีภริยาร่วมกันซื้ออสังหาริมทรัพย์ หากสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้ผู้มีเงินได้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้เต็มจำนวนที่สามีภริยาได้จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท
             6. การได้รับยกเว้นภาษีเงินได้  ผู้มีเงินได้มีสิทธินำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี ไปคำนวณหักจากเงินได้พึงประเมิน หลังจากหักค่าใช้จ่าย (เสมือนเป็นค่าลดหย่อน) ในแบบ ภ.ง.ด.90 หน้า 4 ข้อ 11

             7. กรณีที่ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้แล้ว และต่อมาปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ที่กรมสรรพากรกำหนด ผู้มีเงินได้หมดสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ และต้องเสียภาษีเงินได้ จากค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ได้นำไปหักออกจากเงินได้พึงประเมินในปีภาษีนั้น พร้อมชำระเงินเพิ่มด้วย


อ้างอิง : กฎกระทรวงฉบับที่ 348 (พ.ศ.2562)
               ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 353)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น