ภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax) - TaxTeller

วันศุกร์ที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2562

ภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax)



ภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax)

 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 521 "อันว่าให้นั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้ให้โอนทรัพย์สิน ของตนให้โดยเสน่หาแก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้รับ และผู้รับยอมรับเอาทรัพย์สินนั้น"
        การให้ในลักษณะนี้ มีผล 2 อย่าง คือ
           1. การให้ในขณะที่ผู้ให้ยังมีชีวิตอยู่  จะเกี่ยวข้องกับภาษีการรับให้
           2. การให้หลังจากที่ผู้ให้เสียชีวิตแล้ว จะเป็นในรูปของมรดก หรือตามพนัยกรรม  อันนี้จะเกี่ยวข้องกับเรื่องภาษีมรดก
       ในตอนนี้เราจะกล่าวถึงการให้หลังจากที่ผู้ให้เสียชีวิตแล้ว  ซึ่งเกี่ยวข้องกับมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1599 "เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท ทายาทอาจเสียไปซึ่งสิทธิในมรดกได้แต่โดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ หรือกฎหมายอื่น"
มาตรา 1600 "ภายใต้บังคับของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ กองมรดก ของผู้ตายได้แก่ทรัพย์สินทุกชนิดของผู้ตาย ตลอดทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิดต่างๆ เว้นแต่ ตามกฎหมายหรือว่าโดยสภาพแล้ว เป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้"
        บุคคลที่เป็นทายาทจะต้องมีฐานะเป็นทายาทประเภทหนึ่งประเภทใดดังต่อไปนี้ หรือ ทั้งสองประเภทก็ได้
          1 ทายาทโดยธรรม หรือ ทายาทโดยผลของกฎหมาย ตามมาตรา 1629 แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่             
            1.1 ทายาทโดยธรรมประเภทคู่สมรส  ได้แก่ บุคคลซึ่งจดทะเบียนสมรสกับเจ้ามรดก
            1.2 ทายาทโดยธรรมประเภทญาติ  ทายาทโดยธรรมประเภทญาติมี 6 ลำดับดังต่อไปนี้
                   1.2.1  ผู้สืบสันดาน  ได้แก่ ชั้นบุตร ชั้นหลาน ชั้นเหลน เป็นต้น กรณีที่เจ้ามรดกมีผู้สืบสันดานชั้นบุตร หลาน เหลนอยู่ในขณะที่ถึงแก่ความตาย   ผู้มีสิทธิได้รับมรดกจะเป็นชั้นบุตรเท่านั้น ยกเว้นบุตรเสียชีวิตก่อนได้รับมรดก  ผู้มีสิทธิได้รับมรดกจะเป็นชั้นถัดไปคือชั้นหลาน หากหลานเสียชีวิตก่อนได้รับมรดก  ผู้มีสิทธิได้รับมรดกถัดไปก็คือชั้นเหลน   ผู้สืบสันดานชั้นบุตร ได้แก่
                           1)  บุตรชอบด้วยกฎหมาย  แบ่งเป็น
                                 -  บุตรชอบด้วยกฎหมายของมารดา  ตามกฎหมายเด็กที่เกิดจากหญิงเด็กนั้นย่อมเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงเสมอ  ดังนั้น การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของมารดาจึงไม่ต้องพิจารณาว่ามารดาของเด็กจะได้ สมรสกับชายใดหรือไม่
                                 -  บุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดา  ตามกฎหมายเด็กที่เกิดจากหญิงในขณะที่สมรสกับชาย  กฎหมายให้สันนิษฐานว่าเด็กนั้นเป็นบุตร ชอบด้วยกฎหมายของชายหรือที่เรียกว่า “บุตรที่เกิดระหว่างสมรส”
                              ง่ายๆ ก็คือบุตรที่เกิดในขณะบิดามารดาจดทะเบียนสมรสกัน ถือเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดา ส่วนบุตรชอบด้วยกฎหมายของมารดา ไม่ได้ยึดถือการจดทะเบียนสมรส บุตรนั้นอาจจะเกิดในขณะที่บิดามารดาจดทะเบียนสมรส หรือไม่ได้จดทะเบียนสมรสก็ได้
                          2) บุตรไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรนอกสมรส (ของบิดา)  คือ บุตรที่เกิดจากบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน  หรือเรียกว่า “บุตรนอกสมรส”  บุตรไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ถือเป็นผู้สืบสันดานของบิดาจึงไม่มี สิทธิรับมรดกของบิดา เว้นแต่เป็นบิดาจะได้ทำให้เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายในภายหลัง ด้วยวิธี หนึ่งวิธีใดดังต่อไปนี้
                              -  บิดามารดาได้จดทะเบียนสมรสกัน  (ภายหลังเด็กเกิด)
                              -  บิดาได้จดทะเบียนรับรองว่าเด็กเป็นบุตร
                              -  ศาลมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่าชายเป็นบิดา
                          การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายทั้งสามกรณีข้างต้นกฎหมายให้มี ผลย้อนหลังในไปในวันที่เด็กเกิด ซึ่งทำให้เด็กนั้นมีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาตั้งแต่วันที่เด็กเกิด  การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายวิธีแรกกับวิธีที่สองนั้นต้องกระทำก่อนบิดาถึงแก่
                         3) บุตรบุญธรรม กฎหมายถือว่าบุตรบุญธรรมนั้นมีฐานะเป็น ผู้สืบสันดานของผู้รับบุตรบุญธรรมเช่นเดียวกับบุตรชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดก
                         4) บุตรนอกสมรสที่บิดาได้รับรองโดยพฤตินัย การรับรองโดยพฤตินัย ได้แก่ การรับรองตามความเป็นจริงว่าเด็กนั้นเป็นบุตร โดยมิได้จดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร เช่น พามารดาเด็กไปโรงพยาบาลขณะตั้งครรภ์ บิดาไปแจ้งทะเบียนคนเกิดว่าเป็นบุตร ให้ใช้ นามสกุลของตนเอง ยอมรับในวงสังคมว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของตนเอง บิดายอมให้บุตรเรียกว่า บิดา
                   1.2.2 บิดามารดา บุคคลซึ่งจะมีฐานะเป็นบิดาของเจ้ามรดก ได้แก่บุคคล ดังต่อไปนี้   
                            1) บิดา ได้แก่
                              -  ชายที่จดทะเบียนสมรสกับมารดาของเจ้ามรดก
                              -  ชายที่จดทะเบียนรับเด็ก เป็นบุตร
                              -  ชายที่ศาลพิพากษาว่ามีฐานะเด็กเป็นบุตร
                            2) มารดา  นั้นกฎหมายกำหนดว่ามารดาที่ให้กำเนิดเจ้ามรดก  ย่อมเป็น มารดาโดยชอบด้วยกฎหมายเสมอโดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนกับบิดาของเจ้ามรดก  หรือจดทะเบียนรับรองเจ้ามรดกอีก
                            บิดา มารดาบุญธรรมของเจ้ามรดกกฎหมายไม่ถือว่ามีฐานะเป็น ทายาทโดยธรรมในฐานะบิดามารดา ดังนั้นจึงไม่มีสิทธิรับมรดกของบุตรซึ่งเป็นเจ้ามรดก
                   1.2.3 พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับเจ้ามรดก  หมายถึง บุคคลที่เกิดจาก บิดามารดาเดียวกันกับเจ้ามรดก
                   1.2.4 พี่น้องร่วมแต่บิดา หรือมารดากับเจ้ามรดก หมายถึง บุคคลที่เกิด จากบิดา หรือมารดาคนเดียวกัน
                   1.2.5 ปู่ย่า ตา ยาย
                   1.2.6 ลุง ป้ า น้า อา
                     สรุปก็คือ ทายาทโดยธรรมประเภทญาติที่จะมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายหรือไม่ พิจารณาจาก ทายาทที่อยู่ในลำดับต้น เท่านั้น  ทายาทที่อยู่ในลำดับถัดลงมาไม่มีสิทธิได้รับมรดก เช่น
                         -   ถ้าเจ้ามรดกมีบุตร ซึ่งเป็นทายาทลำดับที่ 1 พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับเจ้ามรดกไม่มีสิทธิได้รับมรดก 
                         -   ถ้าลุง ป้า น้า อา  ซึ่งเป็นทายาทลำดับที่ 6 ของเจ้ามรดกจะมีสิทธิได้รับมรดกก็ต่อเมื่อ เจ้ามรดกไม่มีทายาทตั้งแต่ลำดับ 1 ผู้สืบสันดาน จนถึงลำดับ 5 ปู่ ย่า ตา ยาย
                         -   แต่ถ้าเจ้ามรดกมีทายาทลำดับ 1 ผู้สืบสันดาน และทายาทลำดับ 2 บิดามารดา  แล้วละก็บิดามารดาของเจ้ามรดก กับผู้สืบสันดานของเจ้ามรดกจะ มีสิทธิได้รับมรดกพร้อมกัน โดยกฎหมายให้บิดา มารดา แต่ละคนมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดก เท่ากับบุตรหนึ่งคน
          2 ทายาทโดยพินัยกรรม  หรือทายาทผู้รับพินัยกรรมตามเจตนาของเจ้ามรดก

ภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax)

        ภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax) หรือบางท่านเรียกว่า Death Tax  เกิดขึ้นเมื่อเจ้ามรดกตาย ผู้รับมรดกจากเจ้ามรดกแต่ละราย ไม่ว่าจะได้มาในคราวเดียวหรือหลายคราวเมื่อรวมแล้วมีมูลค่าของทรัพย์สินทั้งสิ้น หักด้วยภาระหนี้สินที่ตกทอดมาจากการรับมรดกเกิน 100 ล้านบาท  ผู้รับมรดกมีหน้าที่ต้องเสียภาษีในส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท

ผู้มีหน้าที่เสียภาษี

        ผู้มีหน้าที่เสียภาษีได้แก่ผู้รับมรดก ซึ่งก็คือ  ทายาทโดยธรรม (ยกเว้นคู่สมรสของเจ้ามรดกจะได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีการรับมรดกถึงแม้นว่ามูลค่าของมรดกนั้นจะเกิน 100 ล้านบาทก็ตาม) หรือ ทายาทโดยพินัยกรรม


        ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเป็นผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ ให้ผู้แทนโดยชอบธรรม ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์เป็นผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการแทนผู้เยาว์ คนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ แล้วแต่กรณี

ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีการรับมรดก

          มูลค่าของมรดก หมายถึงมูลค่าของทรัพย์สินทั้งสิ้นที่ได้รับมรดกหักด้วยภาระหนี้สินที่ตกทอดมาจากการรับมรดก  การคำนวณมูลค่าของทรัพย์สินที่ได้รับมรดก มีรายละเอียดดังนี้

ผู้ได้รับยกเว้นภาษีการรับมรดก

         1. คู่สมรสของเจ้ามรดกที่ได้รับมรดกจากเจ้ามรดก
         2. บุคคลผู้ได้รับมรดกที่เจ้ามรดกแสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่ามีความประสงค์ให้ใช้มรดกนั้นเพื่อ ประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการสาธารณประโยชน์
        3. หน่วยงานของรัฐและนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกิจการศาสนา กิจการศึกษา หรือกิจการ สาธารณประโยชน์
        4. บุคคลหรือองค์การระหว่างประเทศตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีอยู่ต่อองค์การสหประชาชาติ หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือตามสัญญาหรือตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกันกับนานาประเทศ

อัตราภาษี

        1. ผู้รับมรดกเป็นบุพการี หรือผู้สืบสันดาน คำนวณและเสียภาษีในอัตราร้อยละ 5 ของมูลค่ามรดกในส่วนที่เกิน 100 ล้าน
        2. ผู้รับมรดกนอกเหนือจากข้อ 1. คำนวณและเสียภาษีในอัตราร้อยละ 10 ของมูลค่ามรดกในส่วนที่เกิน 100 ล้าน
            บุพการี  หมายถึง ผู้สืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไป เช่น บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย
            ผู้สืบสันดาน หมายถึง ผู้สืบสายโลหิตโดยตรงลงมา เช่น ลูก หลาน เหลน ลื่อ

กำหนดเวลายื่นแบบ

        ผู้มีหน้าที่เสียภาษีต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี และชําระภาษี ภายใน 150  วันนับแต่วันที่ได้รับมรดก ด้วยแบบแสดงรายการภาษีการรับมรดก (ภ.ม.60) (ตัวอย่างแบบ ภ.ม.60 คลิกที่นี่)   ให้ยื่นและชําระ ณ สํานักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
       ผู้รับมรดกสามารถยื่นขอผ่อนชำระภาษีได้ โดยยื่นคำร้องขอผ่อนชำระภาษีการรับมรดก ท.ป.2/2  (คำร้องขอผ่อนชำระภาษีการรับมรดก คลิกที่นี่)   รายละเอียดการผ่อนชำระ
          1. การขอผ่อนชำระภาษี ภายใน 2 ปี ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม สำหรับเงินเพิ่มที่อาจคำนวณได้ตลอดระยะเวลาการผ่อนชำระภาษีนั้น
          2. การผ่อนชำระที่เกินกว่า 2 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปี เสียเงินเพิ่มร้อยละ 0.50 บาทต่อเดือน
          3. การผ่อนชำระภาษี สามารถผ่อนชำระภาษีให้เสร็จสิ้นก่อนกำหนดเวลาที่ขอผ่อนก็ได้
          4. หากผิดนัดชำระภาษีงวดใดงวดหนึ่่ง จะหมดสิทธิการผ่อนชำระภาษี และต้องชำระภาษีที่ค้างอยู่ทั้งจำนวนพร้อมเงินเพิ่ม
รายละเอียดพระราชกฤษฎีกา กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการผ่อนชำระภาษีการรับมรดก พ.ศ.2559 (คลิกที่นี่)

การขอคืนเงินภาษีการรับมรดก

        ผู้มีสิทธิได้รับคืนภาษีการรับมรดกยื่นคำร้องขอคืนภาษีการรับมรดก โดยใช้คำร้อง ขอคืนเงินภาษีการรับมรดกตามแบบคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (ค.10) เป็นแบบคำร้องขอคืนภาษีการ รับมรดก
ให้ผู้มีสิทธิได้รับคืนภาษีการรับมรดกยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีการรับมรดกต่อ เจ้าหน้าที่ของสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา พร้อมด้วยเอกสารหลักฐาน ดังต่อไปนี้
              1. ใบเสร็จรับเงินภาษีการรับมรดก
              2. หลักฐานแสดงการเสียภาษีการรับมรดกที่ชำระไว้เกิน
              3. หลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ขอคืน

บทกำหนดโทษ

        1. หากไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี (ภ.ม.60) โดยไม่มีเหตุอันสมควร ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000.- บาท
        2. หากไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคําสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน หรือไม่ยอม ตอบคําถามของเจ้าพนักงานประเมิน  หรือของประธานคณะกรรมการอุทธรณ์  ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000.- บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
        3. หากทําลาย ย้ายไปเสีย ซ่อนเร้น หรือโอนไปซึ่งทรัพย์สินที่ถูกยึด หรืออายัดไปให้แก่บุคคลอื่นต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 400,000.- บาท
        4. หากจงใจยื่นข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคําเท็จ หรือตอบคําถามด้วยถ้อยคํา อันเป็นเท็จ หรือนําพยานหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี   หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษี แนะนําหรือสนับสนุนให้บุคคลอื่นใดกระทําการดังกล่าว ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000.- บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

อ้างอิง

พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ.2558

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น