สิทธิประโยชน์ทางภาษี จากการซื้อหน่วยลงทุนใน RMF - TaxTeller

วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2561

สิทธิประโยชน์ทางภาษี จากการซื้อหน่วยลงทุนใน RMF

สิทธิประโยชน์ทางภาษี จากการซื้อหน่วยลงทุนใน RMF

    กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF) คือกองทุนรวมแบบปิด ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามาลงทุนเพื่อสะสมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ
    RMF เป็นกองทุนที่มีประเภทสินทรัพย์ให้เลือกลงทุนได้หลากหลาย ทั้งตลาดเงิน ตราสารหนี้ ตราสารโภคภัณฑ์ หุ้น แล้วแต่การตัดสินใจของแต่ละคนในการที่จะเลือกลงทุน  แถมยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้หากไม่พอใจประเภทการลงทุนที่ลงทุนไป โดยการโอนย้ายไปลงทุนในประเภทการลงทุนอื่นได้ จึงถือว่าเป็นการลงทุนที่มีความยืดหยุ่น เป็นการวางแผนการเงินในระยะยาว แถมยังช่วยให้เราจ่ายภาษีลดลงกันได้อีกยาวยาวไป
    สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ สามารถแยกได้ออกเป็น 2 ส่วน คือ สิทธิประโยชน์จากการซื้อหน่วยลงทุนใน RMF และ สิทธิประโยชน์จากการไถ่ถอนหน่วยลงทุนใน RMF

สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการซื้อหน่วยลงทุนใน RMF

    สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการซื้อหน่วยลงทุนใน RMF  กฎหมายกำหนดให้นำเงินได้ที่จ่ายในการซื้อ RMF ไปหักออกจากเงินได้พึงประเมินหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วเสมือนเป็นค่าลดหย่อน ซึ่งเพื่อให้เข้าใจกันง่ายๆ จะเรียกว่าเป็นค่าลดหย่อน โดยมีหลักเกณฑ์ เงื่อนไข ข้อยกเว้น ดังนี้

หลักเกณฑ์ และเงื่อนไข

    1. ต้องซื้อหน่วยลงทุน RMF ไม่น้อยกว่าปีละ 1 ครั้ง และต้องไม่ระงับการซื้อหน่วยลงทุนเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปี ติดต่อกัน
    2. ต้องซื็อไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต่องเสียภาษีเงินได้ในแต่ละปี หรือมีจำนวนไม่น้อยกว่า 5,000 บาท
    3. ต้องถือหน่วยลงทุน RMF ไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก
    4. หากต้องการไถ่ถอนหน่วยลงทุน RMF จะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ยกเว้นกรณีทุพพลภาพหรือตาย
    5. ต้องไม่ได้รับเงินปันผลหรือเงินอื่นใดจากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพระหว่างการลงทุน การจะได้รับคืนเงินลงทุนและผลประโยชน์จากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพได้ก็ต่อเมื่อมีการไถ่ถอนหน่วยลงทุนเท่านั้น
    6. ต้องไม่กู้ยืมเงินหรือเบิกเงินจากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่ได้ซื้อหน่วยลงทุนไว้
    7. จะซื้อหน่วยลงทุน RMF มากกว่า 1 กองทุนก็ได้ แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต่องเสียภาษีเงินได้ในแต่ละปี หรือมีจำนวนไม่น้อยกว่า 5,000 บาท

สิทธิค่าลดหย่อน

    1. หักลดหย่อนได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น และไม่เกิน 500,000 บาท
    2. และเมื่อรวมกันแล้วของเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)/กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ/กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน + RMF ต้องไม่เกิน 500,000 บาท
    3. ไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้หากเป็นการโอนหน่วยลงทุนจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ(PVD) ไปกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เนื่องจากไม่ได้เกิดจากการซื้อ RMF
ฐานในการคำนวณเงินได้พึงประเมินที่ได้รับซึ่งต้องเสียภาษีคลิกที่นี่

หลักฐาน

    หนังสือรับรองจากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพที่แสดงว่ามีการจ่ายเงินเข้ากองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพในปีภาษีนั้น

การผิดเงื่อนไขและข้อยกเว้น

    1. หากได้ถือ RMF ไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันที่ซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก และ มีอายุไม่ต่ำกว่า 55  ปี บริบูรณ์หรือทุพพลภาพ มีสิทธิที่จะไม่ซื้อ RMF หรือหากจะซื้อก็สามารถซื้อปีใดปีหนึ่งก็ได้ และจะซื้อเป็นจำนวนเงินเท่าใดก็ได้ไม่จำกัด
    2. หากมีการใช้สิทธิลดหย่อนไปแล้ว ต่อมาไม่ได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดข้างต้น  ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมปรับปรุงค่าซื้อ RMF ที่ผิดเงื่อนไข ในช่วงระยะเวลาไม่เกิน 5 ปีนั้น (โดยนำค่าลดหย่อน RMF นั้นออก) มีผลทำให้มีภาษีที่ต้องชำระเพิ่มเติม พร้อมเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน
        แต่หากได้มีการปรับปรุงภายในเดือนมีนาคม ของปีถัดจากปีที่ผิดเงื่อนไข จะได้รับสิทธิไม่ต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 1.5 ต่อเดือน
    3. เมื่อได้มีการปรับปรุงตามข้อ 2 แล้ว และยังคงถือหน่วยลงทุน RMF ที่ยังเหลืออยู่ หากได้มีการซื้อ RMF ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กำหนดในปีที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติม สามารถนับระยะเวลาการถือหน่วยลงทุน ได้ตั้งแต่ก่อนปีที่ได้ยื่นแบบฯเพิ่มเติม
       เช่น  มีการผิดเงื่อนไขการซื้อ RMF ในปี 2561 และต่อมาได้มีการยื่นแบบฯ เพิ่มเติม ปรับปรุง ของปีภาษี 2556 2557 2558 2559 2560 แล้วเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2562 โดยไม่ต้องเสียเงินเพิ่ม  และได้มีการซื้อ RMF เพิ่มอีกในปี 2562 ก็จะสามารถนับระยะเวลาการถือครองได้ตั้งแต่ปี 2561
      เมื่อซื้อแล้วหากต้องการจะขาย RMF เราต้องทำอย่างไรล่ะถึงจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการขาย RMF ได้ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเป็นอย่างไรสามารถดูรายละเอียดได้จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากการไถ่ถอนหน่วยลงทุนใน RMF (คลิกที่นี่)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น